ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ดอลล์แข็ง,ตลาดหุ้นร่วง ฉุดน้ำมันดิบปิดลบ 25 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Saturday January 7, 2012 08:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ม.ค.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ร่วงลง อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยังคงตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตก ได้ช่วยพยุงสัญญาน้ำมันดิบเอาไว้จนสามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันได้

สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ขยับลง 25 เซนต์ หรือ 0.25% ปิดที่ 101.56 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 101.95 - 100.89 ดอลลาร์

ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX ยังปรับตัวลงแม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนธ.ค.ที่เพิ่มขึ้นเกินคาด 200,000 ตำแหน่ง และอัตราว่างงานลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.5% จากระดับ 8.7% ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX สามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดของวันที่ 100.89 ดอลลาร์ได้ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า สถานการณ์ที่ยังตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตก จะส่งผลให้อุปทานพลังงานลดลง และจะช่วยหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นอีกในระยะใกล้นี้

ตลาดได้แรงหนุนมากขึ้นหลังจากนางวิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) กำลังหาทางยุติการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน และนายไมเคิล มานน์ โฆษกอียู กล่าวว่า รัฐมนตรีต่างประเทศในยุโรปจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นต่ออุตสาหกรรมพลังงานและการธนาคารของอิหร่าน ในการประชุมวันที่ 30 ม.ค.นี้

ความตึงเครียดในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียได้ทวีความรุนแรงมานับตั้งแต่อิหร่านได้ออกมาขู่ว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ถ้าหากอุตสาหกรรมการส่งออกน้ำมันของอิหร่านถูกคว่ำบาตรโดยกลุ่มชาติตะวันตก แต่ทางการสหรัฐยืนกรานว่าจะไม่ยอมปล่อยให้อิหร่านเข้าแทรกแซงเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซอย่างเด็ดขาด

แบงก์ ออฟ อเมริกา คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้นทันที 40 ดอลลาร์/บาร์เรล หากมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติทำให้การผลิตน้ำมันของอิหร่านต้องหยุดชะงักลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ