สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (17 ม.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดของหลายประเทศ รวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 จีน, ดัชนีภาวะธุรกิจในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถลดแรงกดดันที่เกิดจากข่าวสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ 9 ประเทศในยูโรโซน
สัญญาน้ำมันดิบ NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 2.01 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 100.71 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 98.60 - 101.01 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ขยับขึ้น 19 เซนต์ หรือ 0.17% ปิดที่ 111.53 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 110.56 - 112.76 ดอลลาร์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบดีดกลับขึ้นไปยืนเหนือระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้อีกครั้งเมื่อคืนนี้ หลังจากจีดีพีของจีนขยายตัว 8.9% ในไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งแม้ว่าเป็นการขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส แต่ก็ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนจีดีพีตลอดปี 2554 ขยายตัว 9.2% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 8%
จีดีพีที่ขยายตัวได้ดีเกินคาดของจีนช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กให้คึกคักขึ้น และยังสามารถสกัดปัจจัยลบจากข่าวเอสแอนด์พีประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสและอีก 8 ประเทศของยุโรโซน
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้แรงหนุนเพิ่มขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดผยว่า ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) เดือนม.ค.ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 13.48 จุด จากระดับ 8.19 จุดของเดือนธ.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐ
ขณะที่สถาบัน ZEW ของเยอรมนีรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจพุ่งขึ้นแตะระดับ -21.6 จุดในเดือนม.ค. จากระดับ -53.8 ของเดือนธ.ค. ซึ่งนับเป็นสถิติที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ ZEW เริ่มจัดทำผลสำรวจนี้ในปี 2534 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้แรงหนุนหลังจากที่นายอาลี อัล-ไนมี รมว.พลังงานของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียต้องการให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนจับตาดูสถานการณ์ในอิหร่านอย่างใกล้ชิด หลังจากมีรายงานว่าฝรั่งเศสพยายามผลักดันให้มีการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ขณะที่กองทัพอิหร่านยืนยันว่า ชาติมหาอำนาจตะวันตกไม่สามารถขัดขวางความพยายามของอิหร่านในการปิดช่องแคบฮอร์มุซได้ หากรัฐบาลอิหร่านพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 13 ม.ค.ของสหรัฐ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะร่วงลง 1.3%