ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดราคายางปี 55 ขยับขึ้นท่ามกลางความผันผวนแต่มีปัจจัยเสี่ยงกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2012 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าราคายางในปี 55 ยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่องจากในปี 54 หลังจากที่ราคายางอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 52 ซึ่งความผันผวนของราคายางในปีนี้เป็นไปตามปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อปริมาณการผลิต และความต้องการยางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการยากที่ราคายางจะกลับขึ้นไปสูงเท่ากับในปี 54 ที่ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลาง อยู่ในระดับ 132.42 บาท/กก. เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว และปริมาณผลผลิตที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

หลังช่วงตรุษจีนคาดว่าราคายางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางยังมีโอกาสดีดตัวกลับขึ้นไปจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 110.29 บาท/กก.(ราคา ณ วันที่ 20 มกราคม 54) เนื่องจากสต็อกยางของจีนจะเริ่มปรับลดลง และจีนจะเริ่มกลับเข้ามาเริ่มซื้อยางอีกครั้ง รวมทั้งทางรัฐบาลอาจมีมาตรการเข้ามาพยุงราคาช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่หากเศรษฐกิจจีนไม่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมามากนัก (ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4/54) ก็จะเป็นปัจจัยหนุนราคายาง

สำหรับปัจจัยที่จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางราคายางในระยะต่อไป ได้แก่ ความต้องการยางในตลาดโลก เนื่องจากยางที่ผลิตได้มีการใช้ในประเทศเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ส่วนที่เหลือส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งกลุ่มศึกษายางระหว่างประเทศ (IRSG) คาดการณ์ความต้องการในตลาดโลกในปี 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ไปที่ 27.5 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการผลิตยางรวมในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ไปแตะที่ระดับ 27.2 ล้านตัน

ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ในปีนี้ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมาอยู่ในระดับเดียวกับปริมาณความต้องการยางธรรมชาติ รวมทั้งอัตราการขยายตัวของปริมาณความต้องการยางก็มีระดับใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิต สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันด้านอุปทานในปีนี้ไม่มากนัก ส่วนปัญหาอุปทานตึงตัวน่าจะไม่รุนแรง นอกเหนือไปจากแรงหนุนจากการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) ซึ่งผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังความเสี่ยงในเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยาง

ขณะที่ยังต้องจับตาผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐฯที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งความต้องการยาง โดยเฉพาะจีนที่เป็นเป็นตลาดส่งออกยางที่สำคัญของไทย หรือสัดส่วนร้อยละ 31.9 ของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนคาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์แม้จะขยายตัวแต่มีแนวโน้มชะลอต่อเนื่องจากปี 54 นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเทศอินเดีย เวียดนามและบราซิลที่อุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตและมีความต้องการนำเข้ายางเพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือ ราคาน้ำมัน ที่มีผลต่อราคายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 55 ที่ระดับ 95-110 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าของกองทุนโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ ราคายางล่วงหน้ามักจะเป็นราคาชี้นำตลาดซื้อขายจริง โดยเฉพาะในตลาด TOCOM และตลาด SICOM

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสังเกตคือในปี 54 การปรับตัวของราคายางในประเทศมีแนวโน้มรุนแรงกว่าในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีการผนวกกับแรงเก็งกำไรของบรรดาพ่อค้ายางในตลาดท้องถิ่นด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 55 การเก็งกำไรในตลาดยางก็ยังมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการแทรกแซงตลาดยางเพื่อพยุงราคายาง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ นโยบายที่ดำเนินการโดยรัฐบาลไทย และนโยบายที่ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ(ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) โดยปัจจุบันบทบาทในการพยุงราคายางของบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

การแทรกแซงตลาดยางของไทยมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางราคายางทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก และราคาส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 เอฟโอบีนับเป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก ซึ่งล่าสุดการอนุมัติวงเงินเพื่อซื้อยางเก็บเข้าสต็อกก็หยุดภาวะราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 54 และราคาดีดตัวขึ้น มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยพยุงราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยาง

และปัจจัยสุดท้าย คือ การขยายพื้นที่ปลูกยาง โดยไทยมีการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่ในปี 2546(ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว) และมีนโยบายจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 800,000 ไร่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซียก็ขยายพื้นที่ปลูกเช่นกัน ขณะที่จีนก็ลงทุนปลูกยางเพิ่มทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตยางในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 54 ถือเป็นปีที่ราคายางมีความผันผวน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น และช่วงเดือนเมษายนที่ทั่วโลกเกิดความวิตกว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนยาง เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนในแหล่งผลิตสำคัญ แต่หลังจากนั้นราคายางก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากความวิตกผลกระทบวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศยูโรโซนและภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงจีนชะลอรับซื้อยางเนื่องจากปริมาณสต็อกมีเพียงพอ

และในช่วงเดือนตุลาคม 54 ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมากจากข่าวการขายยางให้จีนในราคาเอฟโอบี 105 บาท/กก. ส่งผลกดดันให้ราคาขายยางในตลาดในประเทศลงมาจากราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ณ ตลาดกลางท้องถิ่นที่ทรงตัวอยู่ในระดับ 126 บาท/กก.ในเดือนกันยายน 54 มาอยู่ที่ระดับ 111.99 บาท/กก.ในเดือนตุลาคม 54 และณ วันที่ 20 มกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 110.29 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)วันที่ 17 มกราคม 55 พิจารณาอนุมัติงบประมาณรับซื้อยางจากเกษตรกรจำนวน 200,000 ตันเก็บเข้าสต็อก โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถดึงราคายางในประเทศขึ้นไปถึง 120 บาท/กก.ภายใน 2 เดือน ด้วยการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดนับเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ