ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมันดิบปิดบวก 30 เซนต์ หลังยอดซื้อสินค้าคงทนพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Friday January 27, 2012 06:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (26 ม.ค.) เพระได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนธ.ค. ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าจะช่วยหนุนความต้องการพลังงานให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.บวก 30 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 99.70 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 101.39 - 99.23 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 98 เซนต์ ปิดที่ 110.79 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 111.89 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ดีดตัวขึ้นขานรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3% ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน และมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2%

ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค.นั้น ถึงแม้ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สู่ระดับ 377,000 ราย จากระดับ 356,000 รายของสัปดาห์ก่อนหน้านั้น แต่ตัวเลขดังกล่าวยังคงเคลื่อนไหวที่ระดับต่ำกว่า 400,000 ราย ซึ่งเป็นระดับที่หลายฝ่ายวิตกกังวล และสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัว

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fun rates) ที่ระดับต่ำต่อไปจนถึงปลายปี 2557 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยืนยันว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ยังคงเอื้ออำนวยให้เฟดตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว

นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ตึงเครียดในอิหร่าน โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า การห้ามประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นถึง 30 ดอลลาร์/บาร์เรล

ไอเอ็มเอฟระบุว่า การห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านโดยไม่มีน้ำมันจากแหล่งผู้ผลิตอื่นมาทดแทน อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นถึงราว 20-30% ในช่วงแรก และหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซตามคำขู่ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันถีบตัวสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) รองจากซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันที่สำคัญ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ