สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) ขานรับตัวเลขว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่ร่วงลงเกือบแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี และจากความคาดหวังที่ว่ากรีซจะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินรอบที่สอง
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.50% ปิดที่ 102.31 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 102.69 - 100.84 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.พุ่งขึ้น 1.18 ดอลลาร์ หรือ 0.99% ปิดที่ 120.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2554
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐช่วยให้นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอุปสงค์พลังงานในสหรัฐ โดยเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. ร่วงลง 13,000 ราย แตะที่ 348,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี และตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจพุ่งขึ้นแตะระดับ 365,000 ราย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนม.ค.เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 0.699 ล้านยูนิต ขณะที่การอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค.อยู่ที่ 0.676 ล้านยูนิต ซึ่งตัวเลขการสร้างบ้านนั้นอยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะอยู่ที่ 0.675 ล้านยูนิต
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่าธนาคารกลางหลายแห่งในยุโรป รวมทั้งธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตรียมช่วยรับภาระหนี้สินของกรีซผ่านการทำธุรกรรมสว็อปหนี้ หรือการยอมรับการปรับลดมูลค่าพันธบัตรของรัฐบาลกรีซที่ธนาคารกลางเหล่านั้นถือครองอยู่ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสความคาดหวังที่ว่ากรีซจะได้รับความช่วยเหลือรอบใหม่
อย่างไรก็ตาม ข่าวความคืบหน้าในด้านบวกของกรีซได้หนุนสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ดิ่งลงเกือบ 0.5% เมื่อวานนี้ ซึ่งทำให้ความน่าดึงดูดใจของสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงน้ำมันดิบ ลดน้อยลงไปด้วย
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังคงได้รับปัจจจัยบวกจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดภาวะสะดุดในการลำเลียงน้ำมันจากอิหร่านไปยังประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า อิหร่านซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของกลุ่มโอเปค ได้แสดงความจำนงที่จะกลับมาเจรจาเรื่องข้อตกลงด้านนิวเคลียร์อีกครั้ง