สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเมื่อคืนนี้ (22 ก.พ.) เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในอิหร่านอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเพราะตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ภาคการผลิตของจีนและยูโรโซนหดตัวลง
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ดีดขึ้น 3 เซนต์ ปิดที่ 106.28 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 105.61-106.72 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.02% ปิดที่ 122.90 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 121.00-123.23 ดอลลาร์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นหลังจากนายยูกิยะ อะมาโน ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เปิดเผยว่า IAEA ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ กับอิหร่านในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ ในระหว่างการเดินทางไปยังกรุงเตหะรานรอบที่ 2 นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ของ IAEA เข้าไปสำรวจฐานทหารที่สำคัญของอิหร่านด้วย
นายอยาตุลเลาะห์ เซย์เยด อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวยืนยันว่า อิหร่านไม่ได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และยังระบุว่าการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์และการกดดันอิหร่านด้วยวิธีการต่างๆนั้น แสดงให้เห็นว่าศัตรูของอิหร่าน "อ่อนแอ"
อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ WTI ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันหลังจาก HSBC เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นเดือนก.พ.ของจีน อยู่ที่ระดับ 49.7 จุด เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ที่ 48.8 จุด แต่ตัวเลขดังกล่าวยังว่าระดับ 50 จุดและบ่งชี้ถึงการหดตัวในภาคการผลิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลเศรษฐกิจจีนอาจจะเข้าสู่ระยะชะลอตัว
นอกจากนี้ มาร์กิต อิโคโนมิกส์ รายงานว่า ดัชนี PMI ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการของยูโรโซนหดตัวลงสู่ระดับ 49.7 จุดในเดือนก.พ. จาก 50.4 จุดในเดือนม.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 50.5 จุด และตัวเลขต่ำกว่า 50 จุดถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในคืนนี้ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะลดลง 400,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะลดลง 0.3%