สัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เพราะได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังจากสหรัฐเปิดเผยจีดีพีไตรมาส 1/2555 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งจุดปะทุความหวังว่าเฟดจะเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.36% ปิดที่ 104.93 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดสัปดาห์ ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้น 1.88 ดอลลาร์ หรือ 1.82%
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนมิ.ย.ขยับลง 9 เซนต์ หรือ 0.08% ปิดที่ 119.93 ดอลลาร์/บาร์เรล เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่สเปนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 1.07 ดอลลาร์ หรือ 0.90%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขประมาณการครั้งแรกของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงประจำไตรมาส 1/2555 ซึ่งขยายตัวที่ระดับ 2.2% ต่อปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 2.5% และน้อยกว่าไตรมาส 4/2554 ที่ขยายตัว 3.0%
นอกจากนี้ การขยายตัวของจีดีพีไตรมาสแรกยังต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งประเมินเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายในช่วง 2.4-2.9% ปีนี้
การชะลอตัวของอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐได้สร้างแรงกดดันให้แก่ค่าเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน ร่วงลงราว 0.6% ซึ่งเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ ที่ซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์ เพราะทำให้สินค้ามีราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นๆ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 76.4 จุด จากระดับ 76.2 จุดในเดือนมี.ค.เนื่องจากชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศ
บรรยากาศการซื้อขายยังได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ดีเกินคาด โดยการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.9% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 4 ซึ่งการใช้จ่ายผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นนี้ช่วยพยุงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังของนักลงทุนว่าเฟดจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงในสัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากอุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นการผลิตในลิเบียและสถานการณ์ความตึงเครียดเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่บรรเทาเบาบางลง
สำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ (EIA) รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า อุปทานน้ำมันโลกในเดือนมี.ค.และเม.ย. มีปริมาณมากกว่าอุปสงค์อยู่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวอันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน