สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิก ร่วงลง 1.34 ดอลลาร์ แตะที่ 95.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ณ เวลา 10:47 น.ตามเวลาลอนดอนในวันนี้ (11 พ.ค.) ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าวิกฤตหนี้ยุโรปอาจจะเลวร้ายลง และจะส่งผลให้อุปสงค์พลังงานหดตัวลง ในขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่สอง ในขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เปิดผยรายงานประจำเดือนว่า โอเปคได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน 320,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. เป็น 31.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน อันเป็นผลจากการเพิ่มผลผลิตในอิรัก ซึ่งอาจจะทำให้อิรักกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มโอเปคแทนอิหร่าน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียได้ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 56,500 บาร์เรลต่อวัน เป็น 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ยังได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสารนิเทศด้านพลังงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค.พุ่งขึ้น 3.65 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 379.52 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม IEA คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 80,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น
นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันอาจร่วงลงต่อเนื่องในสัปดาห์หน้าเนื่องจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งสูงขึ้นประกอบกับความวิตกกังวลว่าวิกฤตยุโรปจะลุกลามออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก