สัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) เนื่องจากวิกฤตหนี้ยุโรปและแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้ว่าจะมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่สดใสก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย.ลดลง 95 เซนต์ หรือ 0.98% ปิดที่ 96.13 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วง 2.36 ดอลลาร์ หรือ 2.40%
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ขยับลง 42 เซนต์ หรือ 0.42% ปิดที่ 112.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ พรรคการเมืองกรีซยังคงพยายามเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งผลปรากฏว่าไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ กรีซก็ยังคงไร้วี่แววที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ หลังจากที่การประชุมระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง จนทำให้มีการคาดหมายถึงการเลือกตั้งรอบสองในเดือนมิถุนายนนี้
ขณะเดียวกัน ธนาคารในสเปนอาจต้องเพิ่มการตั้งสำรองหนี้เสียจากการลงทุนหรือถือครองสินทรัพย์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่รัฐบาลเพิ่งเข้าเทคโอเวอร์ธนาคารบังเกีย ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 4 ของสเปน โดยเป็นความพยายามที่จะหนุนภาคการธนาคารที่ย่ำแย่และเพื่อขจัดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของรัฐบาลในการสางปัญหาในภาคการเงินที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี
นักวิเคราะห์กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของยูโรโซนยังคงส่งผลกดดันตลาดน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ จีนได้เปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หลังจากที่เพิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลการค้าที่น่าผิดหวังไปเมื่อวันก่อน ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้จุดกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนเม.ย.ของจีน ขยายตัว 9.3% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 11-12% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งภายในและต่างประเทศ กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวด้านการผลิตของจีน
ขณะเดียวกัน ผลผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดเช่นกัน
โดยวานนี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของโอเปคได้ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนเม.ย. เนื่องจากอิรัก ไนจีเรีย ลิเบีย ได้เพิ่มปริมาณการผลิต ซึ่งการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นดังกล่าว ได้ช่วยชดเชยภาวะอุปทานตึงตัวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสหภาพยุโรปที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
รายงานระบุว่า ประเทศสมาชิกโอเปคผลิตน้ำมันดิบได้ 31.85 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 31.44 ล้านบาร์เรลในเดือนมี.ค. ซึ่งสูงกว่าเพดานการผลิต 30 ล้านบาร์เรลที่กลุ่มโอเปคได้กำหนดไว้เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนพ.ค.ที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี แต่ข้อมูลที่แข็งแกร่งนี้ก็ไม่ได้ช่วยหนุนตลาดน้ำมันมากเท่าไรนัก