ภาวะตลาดน้ำมัน:น้ำมัน WTI ดิ่ง 1.95 ดอลล์จากวิตกยุโรป,สต็อคน้ำมันเพิ่ม

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 24, 2012 06:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (23 พ.ค.) หลังจากมีข่าวว่า อิหร่านยอมให้คณะผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ในประเทศ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของสต็อกน้ำมันดิบก็ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงด้วย สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.95 ดอลลาร์ หรือ or 2.12% ปิดที่ 89.90 ดอลลาร์

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 2.85 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 105.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดต่ำกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. ในขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับยูโรถ่วงตลาดอย่างหนัก

นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.น้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 14 วันใน 17 วันทำการ และจนถึงเมื่อคืนนี้ ราคาร่วงลง 15% เมื่อเทียบกับระดับ106.16 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อต้นเดือน

เมื่อวานนี้ความวิตกเกี่ยวกับกรีซยังคงเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดต่อตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายลูคัส ปาปาเด มอส อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซให้สัมภาษณ์ว่า กำลังมีการพิจารณาการเตรียมการสำหรับการออกจากยูโรโซนของกรีซ และเตือนว่า การยุติการใช้เงินยูโรจะมีผลทางเศรษฐกิจ"ที่รุนแรงอย่างมาก"สำหรับกรีซและประเทศที่เหลือในยูโรโซน

แหล่งข่าวจากยูโรโซนเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ยิ่งเพิ่มความวิตกคือ เจ้าหน้าที่ยูโรโซนเห็นพ้องว่า แต่ละประเทศในยูโรโซนจะต้องเตรียมแผนสำรองของตนเองในกรณีที่กรีซออกจากยูโรโซน

นอกจากนี้ การที่ยูโรร่วงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนก.ค.2553 ยังกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายอย่างหนักในน้ำมันล่วงหน้า โดยดอลลาร์แตะระดับสูงสุดรอบ 20 เดือนเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน ซึ่งทำให้น้ำมันดิบมีความน่าดึงดูดใจน้อยลง

ข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ระบุว่า สต็อคน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 883,000 บาร์เรล สู่ 382.5 ล้านบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแตะระดับสูงสุดรอบ 22 ปี อุปทานที่เพียงพอถ่วงสัญญาน้ำมันล่วงหน้าลงต่อไป

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่นิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า อิหร่านได้ตกลงเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานที่ดำเนินการนิวเคลียร์ต้องสงสัยก่อนการหารือรอบ 2 กับมหาอำนาจ 6 ประเทศในกรุงแบกแดด ความตึงเครียดเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน

นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีผลกระทบต่อตลาด โดยธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปี 2555 ลงจาก 8.4% ก่อนหน้านี้ สู่ 8.2% อุปสงค์น้ำมันในจีนมีแนวโน้มที่จะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ