สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เดือนมิ.ย.ซึ่งซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิก ดีดตัวขึ้น 39 เซนต์ แตะที่ 91.05 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงเช้าวันนี้ (25 พ.ค.) หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอิตาลีระบุว่า ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่สนับสนุนการออกพันธบัตรยูโรโซน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยคลายความกังวลที่ว่า วิกฤตหนี้ของยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทด้านนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและมหาอำนาจสำคัญทั้ง 6 สิ้นสุดลงที่กรุงแบกแดดเมื่อวานนี้ โดยมีแผนที่จะจัดการเจรจาอีกรอบที่กรุงมอสโคว์ในเดือนหน้า
ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตัวแทนจากอิหร่านและสมาชิกถาวร 5 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้แก่ สหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน รวมทั้งเยอรมนี หรือกลุ่ม P5+1 รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) ทำการเจรจาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤติที่ดำเนินมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
นางแคเธอรีน แอชตัน หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียูกล่าวในช่วงสิ้นสุดการประชุมว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเตรียมการประชุมต่อไปในมอสโคว์ในวันที่ 18-19 มิ.ย.
นางแอชตันกล่าวว่า ทั้งอิหร่านและประเทศมหาอำนาจต้องการสร้างความคืบหน้าในการหารือ 2 วันในกรุงแบกแดด แต่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก
ทั้งนี้ นายมาริโอ มอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลีกล่าวในวันนี้ว่า ผู้นำส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) ในการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการในบรัสเซลส์ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป แต่แสดงการสนับสนุนการออกพันธบัตรยูโรโซน
นอกจากนี้ เขากล่าวว่ามีฉันทามติในหลายประเด็น เช่น การออกพันธบัตรเพื่อหนุนโครงการสาธารณูปโภค, การจัดการเงินทุนด้านโครงสร้างของอียู, การเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป โดยอาจจะมีการตัดสินใจในประเด็นเหล่านี้ในเดือนมิ.ย.