ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ดิ่ง 1.47% ร่วงรายเดือนหนักสุดนับแต่ปี 2551

ข่าวต่างประเทศ Friday June 1, 2012 06:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ที่ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) และปิดตลาดเดือนพ.ค.ด้วยการดิ่งลงรายเดือนรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในขณะที่วิกฤตหนี้ยุโรปถ่วงตลาดอย่างหนัก, ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในระดับอ่อนแอ และสต็อคน้ำมันดิบสหรัฐแตะระดับสูงสุดรอบ 22 ปี

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ที่ตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนก.ค.ดิ่งลง 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.47% ปิดที่ 86.53 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคารูดลง 21.2% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอนส่งมอบเดือนก.ค.ดิ่งลง 1.60 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 101.87 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ก่อนการเลือกตั้งของกรีซในเดือนหน้า นักลงทุนยังคงมีความระมัดระวัง และสเปนยังคงประสบความยากลำบากในการรักษาธนาคารบังเกีย ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 4 ของสเปน ซึ่งบ่งชี้ถึงวิกฤตการธนาคารที่รุนแรงในสเปน โดยความวิตกเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตจากกรีซไปยังประเทศที่ใหญ่เกินกว่าจะช่วยได้ เช่น สเปนและอิตาลี ถ่วงตลาดน้ำมันดิบอย่างหนัก ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของตลาด

ยูโรร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดรอบ 23 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งทำให้ดอลลาร์ทะยานขึ้น ซึ่งค่าดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้นสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อน้ำมันดิบ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความวิตกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอุปสงค์ทั่วโลกคือ การที่ข้อมูลเศรษฐกิจอยู่ในระดับอ่อนแอ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐสำหรับไตรมาสได้มีการทบทวนปรับลงสู่ 1.9% จากที่ประมาณการเบื้องต้นที่ 2.2%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 10,000 รายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สู่จุดสูงสุดรอบ 5 สัปดาห์ที่ 383,000 ราย และการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP เพิ่มขึ้นเพียง 133,000 รายในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ถึงการเพิ่มขึ้น 150,000 ราย ซึ่งแสดงว่าตลาดแรงงานอยู่ในภาวะซบเซา

"ตัวเลขของสหรัฐบ่งชี้บางอย่าง" นายเรย์มอนด์ คาร์โบน ประธานบริษัทพาราเมาท์ ออปชันส์กล่าว "เห็นได้ชัดว่า สหรัฐไม่ได้แสดงความแข็งแกร่งมากนัก" ซึ่งสร้าง"ความวิตก"ทั่วตลาด

ในขณะเดียวกัน สต็อคน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งทำให้ปริมาณทั้งหมดแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งอุปทานที่เพียงพอเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันดิบด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ