สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (12 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ยุโรป นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ และการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะคงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมวันพฤหัสบดี
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 70 เซนต์ หรือ 0.84% ปิดที่ 82.62 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 82.15-84.01 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอน ขยับลง 1 เซนต์ ปิดที่ 97.13 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 96.67-98.38 ดอลลาร์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรป หลังจากมีรายงานว่าเยอรมนีขายพันธบัตรอายุ 10 ปีได้ 4.04 พันล้านยูโร หรือ 5.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวานนี้ โดยมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.52% เพิ่มขึ้นจากการประมูลเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ระดับ 1.47% ขณะที่อิตาลีสามารถขายพันธบัตรได้ 6.5 พันล้านยูโร มีอัตราผลตอบแทน 3.972% เพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งก่อนที่ระดับ 2.34%
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย.ลดลง 191,000 บาร์เรล สู่ระดับ 384.4 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะร่วงลง 1.5 ล้านบาร์เรล
สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 63,000 บาร์เรล สู่ระดับ 119.97 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.72 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 201.8 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันพุ่งขึ้น 1.0% แตะที่ 92.0% ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะลดลง 0.2%
สัญญาน้ำมัน WTI ปรับตัวลงจากการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะคงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมวันพฤหัสบดี และข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐ ปรับตัวลดลง 1.0% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 หรือในรอบเกือบ 3 ปี และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
ขณะที่ยอดค้าปลีกของสหรัฐปรับตัวลดลง 0.2% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 4.046 แสนล้านดอลลาร์ และปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปีที่ยอดค้าปลีกหดตัวติดต่อกัน