โบรกฯลุ้นมาตรการ 3 ประเทศพยุงยางทำได้จริงในแง่ปฏิบัติดันราคาทะลุ 100 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 22, 2012 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ วงการยางสนับสนุนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางของที่ประชุมสภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ(International Tripartite Rubber Council:ITRC)ที่เห็นพ้องให้ร่วมกันลดปริมาณส่งออกยางลง 3 แสนตัน และโค่นต้นยางอายุ 25 ปีเพื่อปลูกใหม่ทดแทน เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ราคายางฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในที่สุด

ทั้งนี้ โบรกเกอร์มองว่าการควบคุมดีมานด์-ซัพพลายให้เกิดความสมดุลเป็นวิธีที่น่าจะประสบผลสำเร็จในยามที่ความต้องการใช้ยางชะลอตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังถูกปกคลุมไปด้วยความกังวลผลพวงจากวิกฤติยูโรโซน

          โบรกเกอร์                                 ราคาเป้าหมาย
          ดีเอส ฟิวเจอร์ส                                100
          แอโกรเวลท์                                ไม่เกิน 100
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            ไม่เกิน 100
          ม.หอการค้าไทย                              95 - 100

นายไพฑูรย์ วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอโกรเวลท์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือของประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลกในลักษณะดังกล่าวเคยจะนำใช้มาแล้วเมื่อช่วงปี 51 แต่พอดีตอนนั้นสหรัฐได้นำมาตรการ QE ออกมาใช้ ทำให้ราคายางรีบาวน์กลับขึ้นมาได้เอง โครงการพยุงราคาจึงถูกพับไป

"เมื่อปี 2551 พอออกมาตรการนี้เป็นจังหวะเดียวกับที่สหรัฐฯก็ใช้ QE พอดีทุกอย่างเด้งกลับ ยางเด้งกลับ" นายไพฑูรย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามาเลเซีย เพราะระยะหลังมาเลเซียเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ใช้ยาง หรือเป็นผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย ทำให้ปลูกยางน้อยลง ดังนั้น จึงยังมัความกังวลว่าการตกลงความร่วมมือกับมาเลเซียเพื่อทำให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นในทางปฏิบัติจริงจะทำได้หรือไม่

"ตอนนี้มาเลเซียเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ซื้อ ก็คงไม่อยากซื้อในราคาแพง จะไปตรวจสอบยังไงว่าไทยลด 150,000 ตัน อินโดนีเซียลดส่งออก 1 แสนตัน มาเลเซียลด 5 หมื่นตัน ซึ่งคงต้องรอดูการหารือในระดับฝ่ายบริหารซึ่งจะมีทั้งสมาคมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ผู้ส่งออกว่าจะลงรายละเอียดของมาตรการนี้ยังไง"นายไพฑูรย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ส่วนมาตรการต่าง ๆ จะทำให้ราคายางกลับฟื้นขึ้นมาได้จริงหรือไม่ ยังต้องดูภาวะเศรษฐกิจมหภาคด้วย ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยุโรปไม่มีการอัดฉีดทำให้เศรษฐกิจฟื้น ก็จะทำให้ความต้องการใช้ยางยังลดน้อย ถึงแม้จะลดปริมาณการส่งออกลงก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น การจะหวังให้ราคายางดีดตัวกลับไปเกือบๆ 200 บาท/กก.ก็คงลำบาก

"มองว่าระยะยาวราคายางยังเป็นขาลง ราคามีโอกาสลงมากกว่านี้ เว้นแต่สหรัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยุโรปมีการอัดฉีด จีนออกมาตรการลดดอกเบี้ยอาจจะเปลี่ยนมุมมองของตลาด ก็จะเปลี่ยนทิศทางราคายางเป็นขาขึ้นได้"นายไพฑูรย์ กล่าว

ด้านนายชัยวัฒน์ เหมือนมี นักวิเคราะห์ บริษัท ดีเอส ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ระยะสั้นนักลงทุนซึมซับในแง่บวกของความร่วมมือดังกล่าว เพราะเป็นข่าวดี สิ่งที่น่าสนใจของมาตรการนี้ คือ ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2551 ที่เกิด Hamburger Crisis สถาบันการเงินพากันล้มละลาย ราคายางเองก็ได้รับผลกระทบปรับตัวลดลงตกต่ำมาก ก็มีการนำมาตรการลดการส่งออกยางพาราลงออกมาใช้เช่นกัน

แต่เนื่องจากตอนนั้นสถานการณ์วิกฤติค่อนข้างหนัก จำนวนที่ให้ลดการส่งออกจึงสูงถึง 7 แสนตันทำให้ได้ผลสำเร็จ ราคายางค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 40 บาท/กก.ขึ้นมาเป็น 60-70 บาท/กก. และขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไต่ระดับจนทะลุ 100 บาท/กก. เพราะฉะนั้นถือว่ามาตรการนี้น่าสนใจไม่น้อย

"ต้องดูว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือเปล่า แต่ผมให้น้ำหนักว่าการที่เจ้าของผลผลิตโลกคิดเป็นกว่า 70% ของผลผลิตยางในตลาดโลกร่วมมือกัน ผมว่าน่าจะส่งผลดีในระยะกลาง ก็ต้องรอดูว่าแต่ละประเทศที่ได้รับโควต้ากันไปจะปฏิบัติกันได้จริง เป็นรูปธรรมหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่สัญญาลมปาก ถ้าทำได้จริง ผมว่ามีผลดีแน่นอน"นายชัยวัฒน์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ที่ผ่านมาไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ถือเป็นคู่แข่งด้านการส่งออกยางพารากันมายาวนาน ทั้งนี้ก็เพื่อนำเงินรายได้เข้าสู่ประเทศ การลดปริมาณการส่งออกจึงหมายถึงเงินรายได้ของแต่ละประเทศก็จะหายไปด้วย ดังนั้น ทั้ง 3 ประเทศจึงต้องตกลงกันให้ดี

"ถ้าเป็นในแง่ของธุรกิจการค้าระดับโลกย่อมไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว แต่ถ้า ITRC ตกลงกันแล้วแบบนี้ทุกฝ่ายก็ต้องทำให้ได้ตามที่สัญญากันไว้"

ส่วนนโยบายโครงการ 15,000 ล้านบาทที่รัฐบาลนำมาใช้ก่อนหน้านี้ ถือว่าก็มาถูกทางแล้ว เพียงแต่เป็นนโยบายของเราเพียงลำพัง

"ไม่ใช่ว่าโครงการ 15,000 ล้านบาทล้มเหลว การดำเนินมาตรการมาถูกทางแล้วแต่การเดินทางเพียงลำพังความแข็งแกร่งน้อยไม่เท่ากับผู้ร่วมเดินทางเข้ามาสนับสนุนด้วยน่าจะทำให้เกิดศักยภาพ เกิดความแข็งแรงของนโยบาย"

ทั้งนี้ ให้จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เพราะบรรดาผู้สมัครอาจจะมีแนวนโยบายที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย

ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ถ้าราคายังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ก็จะเพิ่มมาตรการต่อไป โดยการประชุมครั้งหน้าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.

ทั้งนี้ มองว่ามาตรการลดปริมาณการส่งออกยาง ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มหันกลับมาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา น่าจะส่งผลหนุนราคายางได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่จะขาดความต่อเนื่อง ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนและเผชิญความเสี่ยงที่อาจชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจยูโรโซนและสหรัฐฯ ตลอดจนผู้นำเข้ายางรายใหญ่อย่างเช่นจีน ซึ่งย่อมจะมีผลต่อความต้องการใช้ยางของอุตสาหกรรมยานยนต์และกระทบราคายางโลกได้ในที่สุด หากสภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็คงต้องติดตามการทบทวนความเหมาะสมของสภาความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับราคายางอีกหรือไม่

ขณะที่นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยการค้าไทย มองว่า ราคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ของไทยในช่วง 5 ปีจากนี้ (ปี 55-60) คงยากที่จะกลับมาอยู่ที่ 120 บาท/ก.ก.

เพราะปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อราคายางพาราส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่คาดว่าจะลากยาวออกไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี เฉพาะช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ราคายางไม่น่าจะเกิน 100 บาท/กก เต็มที่คือ 95 บาท/กก.

"แต่ถ้าโชคดีปลายปีอาจจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างเพื่อสต็อกสินค้าก่อนวันหยุดเทศกาล รวมถึงรัฐบาลยังคงมีการบริหารจัดการผลผลิตที่ดี"นายอัทธ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ