สหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานว่า ราคาอาหารทั่วโลกยังคงที่ในเดือนส.ค. แต่ก็เตือนว่าประเทศทั่วโลกควรจับตาราคาอาหารโลกต่อไป และหาแนวทางสกัดไม่ให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงมากจนเกินไป
"แม้ราคาอาหารทั่วโลกในปัจจุบันยังไม่เข้าขั้นวิกฤตเหมือนกับที่คาดการณ์กันไว้ แต่ประเทศทั่วโลกก็ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป" มาร์จิน เนเซอร์กี โฆษกยูเอ็นกล่าวในการแถลงข่าว
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นภายหลังองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยดัชนีราคาอหาร (FPI) ประจำเดือนส.ค. ซึ่งระบุว่าราคาอาหารในเดือนส.ค.ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค.
สำหรับในเดือนก.ค. ดัชนี FPI พุ่งขึ้น 6% ภายหลังปรับตัวลงมา 3 เดือน FAO ระบุว่า ราคาที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตข้าวโพดได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงในสหรัฐ เนื่องจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นเกือบ 23%
ดัชนี FPI เป็นมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาตระกร้าอาหาร 55 ชนิดทั่วโลก ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ นม น้ำตาล และธัญพืช โดยดัชนี FPI ในเดือนส.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 213 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก.ค. แม้ว่ายังเป็นค่าที่สูงอยู่ แต่ตัวเลข FPI ปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าระดับ 238 จุด ซึ่งเป็นค่าที่สูงสุดซึ่งบันทึกได้ในเดือนก.พ. 2554 และยังต่ำกว่าตัวเลขเมื่อหนึ่งปีก่อนอยู่ 18 จุด
ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีกและสุกร ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค. ภายหลังราคาลงติดต่อกันมา 3 เดือน ขณะที่ราคานมเพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.เล็กน้อย โดยทิศทางยังคงสูงขึ้น เนื่องจากราคานมผงไขมันต่ำ เนย และนมผงชนิดเต็ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม FAO ระบุว่าราคาน้ำตาลเดือนส.ค.ลดลง 8.5% จากเดือนก.ค. สะท้อนแนวโน้มการผลิตที่ดีขึ้นและสภาพอากาศที่อื้ออำนวยมากขึ้นในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในทางกลับกันราคาน้ำมันและไขมันยังแทบไม่เปลี่ยนแปลง สำนักข่าวซินหัวรายงาน