ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดลบ 56 เซนต์ จากคาดการณ์สต็อกน้ำมันดิบพุ่ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 26, 2012 06:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของสเปน หลังจากมีรายงานว่าชาวสเปนหลายพันคนได้ออกมาประท้วงต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 56 เซนต์ หรือ 0.61% ปิดที่ 91.37 ดอลลาร์/บาร์เรลห ลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 90.57-93.20 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดลอนดอน ดีดตัวขึ้น 64 เซนต์ หรือ 0.58% ปิดที่ 110.45 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 109.44-111.47 ดอลลาร์

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงในขณะที่นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันของสหรัฐประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย. ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวในวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 950,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 540,000 บาร์เรล และคาดว่าอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 0.3%

ขณะที่การปิโตรเลียมสหรัฐ (API) เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย.ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 335,000 บาร์เรล, สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 483,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 112,000 บาร์เรล

ตลาดได้รับปัจจัยลบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและการคลังของสเปน หลังจากมีรายงานว่าชาวสเปนหลายพันคนได้ออกมาประท้วงที่กรุงมาดริดเมื่อวานนี้ เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหม่ที่รัฐบาลได้บรรจุอยู่ในร่างงบประมาณประจำปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และอิหร่านซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค)

สำนักซินหัวรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อบริษัทน้ำมันของรัฐบาลอิหร่านเมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ