ภาวะตลาดน้ำมันวิตกหน้าผาการคลังถ่วงน้ำมัน WTI ปิดร่วง $1.47

ข่าวต่างประเทศ Saturday December 22, 2012 07:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (21 ธ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะหน้าผาการคลังของสหรัฐถูกจุดปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันเลื่อนการโหวตแผนขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ.ปรับตัวลง 1.47 ดอลลาร์ หรือ 1.63% ปิดที่ 88.66 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดสัปดาห์ น้ำมัน WTI พุ่งขึ้น 1.93 ดอลลาร์ หรือ 2.23% โดยส่วนใหญ่มาจากสัญญาเดือนม.ค.ที่ดีดตัวขึ้นก่อนที่สัญญาจะหมดอายุเมื่อวันพุธ

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ.ที่ตลาดลอนดอน ร่วงลง 1.23 ดอลลาร์ หรือ 1.12% ปิดที่ 108.97 ดอลลาร์/ออนซ์ ตลอดสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง 18 เซนต์

การเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดน้ำมันในระยะหลังมานี้ โดยการเจรจาระหว่างสมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตที่เดินหน้าและถอยหลังสลับกันไปนั้นได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันเคลื่อนตัวผันผวน ทั้งขึ้นและลง

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ผันผวนยังเป็นผลมาจากปริมาณการซื้อขายที่เบาบางในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี โดย ณ ช่วงเที่ยงวันของนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ วอลุ่มการซื้อขายต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ย 30 วันอยู่ถึง 50%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดน้ำมันถูกแรงขายกดดันอย่างหนักในวันศุกร์ หลังจากที่นายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเผยว่า "แผนสอง" ของเขาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอ โดยแผนดังกล่าวได้เสนอให้มีการขึ้นภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์

การหารือระหว่างสองพรรคที่กลับเข้าสู่ภาวะชะงักงันอีกครั้งได้ส่งผลให้ความหวังที่จะมีการบรรลุข้อตกลงงบประมาณก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 ม.ค.ต้องดับลง และเป็นสาเหตุให้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงร่วงลงอย่างหนัก ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแข็งค่าขึ้น

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ปรับตัวลดลงก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ตลาดน้ำมัน จากการสำรวจของรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธ.ค.ลดลงแตะ 72.9 ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนแอสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆที่ออกมาสดใสได้ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศการซื้อขายในตลาดและช่วยจำกัดช่วงขาลงของราคาน้ำมันได้บ้าง โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งมากสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ส่วนการใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ