ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดลดลง 11 เซนต์ เหตุวิตกอุปทานเพิ่มสูง

ข่าวต่างประเทศ Saturday February 9, 2013 06:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (8 ก.พ.) เนื่องจากความกังวลว่าสต็อกน้ำมันที่เมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบตามสัญญาในตลาด NYMEX จะปรับตัวสูงขึ้นอีก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 11 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 95.72 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดสัปดาห์ สัญญาร่วงลง 2.05 ดอลลาร์ หรือ 2.10%

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.ที่ตลาดลอนดอน พุ่งขึ้น 1.66 ดอลลาร์ หรือ 1.42% ปิดที่ 118.90 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และเพิ่มขึ้น 2.02 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปริมาณน้ำมันในคลังน้ำมันที่เมืองคุชชิงได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งถือเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบสหรัฐ นอกจากนี้ มีรายงานว่าโรงกลั่นแห่งหนึ่งในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐจะยังคงปิดดำเนินการไปจนกระทั่งสิ้นเดือนก.พ. ซึ่งยิ่งเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงเดินหน้าขึ้นในวันศุกร์ หลังจากที่จีนและสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการค้าที่เป็นบวก ส่งผลให้ค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบเบรนท์เหนือ WTI ขยายตัวขึ้นเป็นกว่า 23 ดอลลาร์

ยอดส่งออกและนำเข้าของจีนขยายตัวเกินคาดในเดือนม.ค. ซึ่งช่วยยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังดีดตัวขึ้น โดยสำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยวานนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนม.ค.ขยายตัว 25% และยอดนำเข้าเดือนม.ค.ปรับตัวสูงขึ้น 28.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่ 2.92 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. จาก 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันเดียวกันว่า ยอดขาดดุลการค้าเดือนธ.ค.ปรับตัวลดลงเกินคาด โดยทำสถิติลดลงหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี เนื่องจากยอดนำเข้าปิโตรเลียมร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐร่วงลง 20.7% มาอยู่ที่ระดับ 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์จากระดับที่ได้รับการปรับทบทวนที่ 4.86 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก่อนหน้านี้ และร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลงมาอยู่ที่ 4.55 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับยอดขาดดุลการค้าตลอดทั้งปี 2555 ลดลง 3.5% มาอยู่ที่ระดับ 5.404 แสนล้านดอลลาร์ จากระดับ 5.599 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2554

ขณะเดียวกัน ยอดเกินดุลการค้าของเยอรมนีในปี 2555 ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบกว่า 60 ปี สะท้อนว่าประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรปสามารถตั้งรับวิกฤตในภูมิภาคได้ดี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยว่า การส่งออกของเยอรมนีในเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากที่ร่วงลง 2.2% ในเดือนพ.ย. ส่วนการนำเข้าในเดือนธ.ค.ลดลง 1.3% เมื่อเทียบรายเดือน

สำหรับตลอดปี 2555 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 3.4% แตะ 1.097 ล้านล้านยูโร ซึ่งทำสถิติใหม่เหนือ 1 ล้านล้านยูโร ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.7% สู่ระดับ 9.092 แสนล้านยูโร ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

มูลค่าการส่งออกที่ทะยานขึ้นแซงหน้าการนำเข้าในปี 2555 ส่งผลให้เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้าในปีดังกล่าวที่ 1.881 แสนล้านยูโร ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ที่เคยทำไว้

สำหรับสถานการณ์ในตะวันออกกลางนั้น อิหร่านและกลุ่ม P5+1 ซึ่งได้แก่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี มีกำหนดประชุมครั้งใหม่ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ ที่คาซักสถาน แต่ความหวังที่ว่าจะมีความคืบหน้าจากการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างริบหรี่ หลังจากที่ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐเพิ่งประกาศขยายการคว่ำบาตรต่ออิหร่านด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่อยาตอลลาห์ อาลี คาห์เมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ออกมาประกาศกร้าวว่าจะไม่เจรจาใดๆทั้งสิ้นกับสหรัฐอเมริกา หากยังถูกกดดัน

ด้านเหตุรุนแรงในเยเมนยังดำเนินต่อไป โดยมีการโจมตีท่อส่งน้ำมันหลักของประเทศเมื่อวานนี้ ซึ่งยิ่งสร้างความหวั่นวิตกเกี่ยวกับอุปทานในตะวันออกกลางและเป็นปัจจัยหนุนน้ำมันดิบเบรนท์ให้ปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ