ทั้งนี้ อีซีบีมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยล่าสุดดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนเม.ย.ปรับตัวขึ้นแตะ 46.7 จาก 46.8 ในเดือนมี.ค. แต่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตในภูมิภาคยังคงหดตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ระบุว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. ปรับตัวลง 18,000 ราย สู่ระดับ 324,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 345,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มนายจ้างในสหรัฐยังคงมีการจ้างงานแม้ว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณการชะลอตัวก็ตาม
ปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนสัญญาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้น หลังจากที่ได้ร่วงลง 2.6% ในการซื้อขายที่ตลาดน้ำมันนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. พุ่งขึ้น 6.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 395.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นเพียง 950,000 บาร์เรล
นอกเหนือจากสต็อกน้ำมันที่พุ่งขึ้นเกินคาดแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงเมื่อคืนนี้คือความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของภาคการผลิตจีนและสหรัฐ โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 50.7 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 51.3 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือนเม.ย. ลดลงแตะ 50.4 จากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 51.6