สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 39 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 95.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 99 เซนต์ หรือ 0.95% ปิดที่ 102.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจากบีโอเจมีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดว่าบีโอเจอาจอัดฉีดเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ หรือออกมาตรการใหม่ๆเพิ่มเติม เพื่อสกัดการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ได้ปรับเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบเดือนพ.ค.สู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันปี 2556 ลงเล็กน้อย อันเนื่องมาจากความเสี่ยงต่างๆที่มีต่อเศรษฐกิจโลก
รายงานภาวะตลาดประจำเดือนของโอเปคระบุว่า โอเปคปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 106,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 30.57 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค. ซึ่งนำโดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบีย สำหรับความต้องการน้ำมันทั่วโลกปีนี้จะขยายตัวประมาณ 780,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 10,000 บาร์เรลต่อวัน จากรายงานเดือนที่แล้ว
กลุ่มโอเปคระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าตลาดมีอุปทานเพียงพอ และเมื่อมองในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มเตือนว่า อุปสงค์น้ำมันเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลง
โอเปคระบุว่า ปริมาณการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 เนื่องจากความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขับขี่รถยนต์ที่พุ่งสูงสุดในช่วงฤดูร้อนในบริเวณแถบซีกโลกเหนือ ประกอบกับการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นสำหรับการทำงานเครื่องปรับอากาศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้นกำลังสกัดการขยายตัวของความต้องการน้ำมัน
นักลงทุนจับตาดูสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยสต็อกน้ำมันสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย.ในคืนนี้ตามเวลาไทย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นจะเพิ่มขึ้น 950,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันอาจทรงตัวที่ 88.4%