ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ทะลุระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เมื่อคืนนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเหตุจลาจลในอียิปต์อาจจะทำให้การส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลางได้รับผลกระทบ บรรดาผู้จับตาความเคลื่อนไหวในตลาดเชื่อว่า ราคาน้ำมันสหรัฐน่าจะยังคงปรับตัวขึ้นจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง รวมทั้งจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่งขึ้น
ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปรับสูงขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลที่มีมากขึ้นจากสถานการณ์ที่ไร้ซึ่งเสถียรภาพในอียิปต์ ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนของรอยต่อเส้นทางส่งน้ำมันที่สำคัญที่มีคลองสุเอซและท่อส่งน้ำมันบางส่วน แม้ว่าอียิปต์จะไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็ตาม
เรย์มอนด์ คาร์โบน เทรดเดอร์น้ำมันอาวุโสของตลาด NYMEX เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า มีปัจจัยประกอบกันที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น
ในความเห็นของเทรดเดอร์รายนี้นั้น สองสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น คือ ความตึงเครียดในอียิปต์และความต้องการที่แข็งแกร่ง เทรดเดอร์กำลังจับตาสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเดิมทีนั้นก็มีปัญหาเกี่ยวกับการผลิตในตะวันออกกลางมากอยู่แล้ว นายคาร์โบนไม่แปลกใจที่ราคาน้ำมันดิบทะลุ 100 ดอลลาร์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ความต้องการในไตรมาส 3 ดูเหมือนจะดีดตัวขึ้น
ราคาน้ำมัน WTI อาจสูงได้อีกถึง 110 ดอลลาร์ นายคาร์โบนกล่าวว่า "ปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาน้ำมันมาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ได้ อาจจะผลักดันให้ราคาสูงขึ้นกว่านี้อย่างง่ายดาย"
มิสวิน มาเฮช นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากบาร์เคลย์ส ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระดับของการขาดแคลนอุปทานในตะวันออกกลาง โดยยกเรื่องกำลังผลิตที่ลดลงในลิเบียจากเหตุประท้วงที่บ่อและคลังน้ำมัน กำลังผลิตน้ำมันที่ลดลงในไนจีเรียที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความเสียหายของท่อส่งที่เกิดจากการขโมยน้ำมัน และการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักลดลง ซึ่งสวนทางกระแสคาดการณ์การการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
มาเฮชคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันเบรนท์จะกลับมาสู่ที่ระดับ 111 ดอลลาร์เหมือนกับสถิติที่เคยเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาจากภาวะขาดแคลนอุปทานที่ยังเกิดขึ้นอยู่ ตลอดจนการขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น
ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสจากสหรัฐ หลังจากที่ภาคการผลิตและตลาดแรงงานมีแนวโน้มการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สหรัฐเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งโลก
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ของโรงงานในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนพ.ค. สูงกว่าระดับคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 2.0% เล็กน้อย ส่วนยอดสั่งซื้อใหม่ดีดขึ้น 1% ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ร่วงลง 4.7% ในเดือนมี.ค.
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. ปรับตัวลดลง 5,000 ราย มาอยู่ที่ 343,000 ราย
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
"ความต้องการทั่วโลกกำลังกระเตื้องขึ้น" สตีเฟน วีเลอร์ นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า "เราคาดว่าปัจจัยพื้นฐานจะปรับตัวดีขึ้นอีกไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2556"
อดัม ลองซัน นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ เปิดเผยในรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า "เราจะยังคงเห็นปัจจัยพื้นฐานที่หนุนราคาให้สูงขึ้นต่อไปในช่วงฤดูร้อนนี้ รวมถึงความต้องการที่แข็งแกร่งขึ้นตามฤดูกาล สต็อกน้ำมันกลั่นในระดับต่ำ และอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน