ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 82 เซนต์เมื่อคืนนี้ (24 ธ.ค.) เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐจะปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าสหรัฐอาจขาดแคลนพลังงานในช่วงฤดูหนาว
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ.ปิดพุ่งขึ้น 82 เซนต์ แตะระดับ 94.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 1.44 เซนต์ ปิดที่ 2.5947 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 0.45 เซนต์ ปิดที่ 2.384 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ ปิดที่ 92.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กระทรวงพลังงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยข้อมูลน้ำมันสำรองในวันพฤหัสบดีนี้ โดยเลื่อนการเปิดเผยออกไป 1 วัน เนื่องจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดการเงินในสหรัฐปิดทำการวันที่ 25 ธ.ค.เนื่องในวันคริสต์มาส
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากทีเอฟเอส เอ็นเนอร์จี ฟิวเจอร์ส คาดว่าน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐจะลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปคาดว่าน้ำมันดิบสำรองจะลดลง 2-3 ล้านบาร์เรล
นายฟาเดล เกี๊ยต นักวิเคราะห์จากบริษัทอ็อพเพนเฮเมอร์ แอนด์ โค คาดว่า "ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในชวง 90-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังเทศกาลคริสต์มาส อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถคาดการณ์ระดับราคาต่ำสุดและสูงสุดได้ เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดยังคงผันผวน"
ขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่นๆกล่าวว่า ตลาดน้ำมันนิวยอร์กจะยังคงถูกขับเคลื่อนไหวด้วยการซื้อเก็งกำไรมากกว่าเคลื่อนไหวด้วยปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทาน
ก่อนหน้านี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนว่า อาจเกิดภาวะพลังงานขาดแคลนทั่วโลก เนื่องจากบริษัทน้ำมันของรัฐบาลในบางประเทศกำลังเข้ามามีบทบาทในการควบคุมอุปทานพลังงานในตลาดโลกมากขึ้น
"กำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกควรจะเพิ่มขึ้นอีก 37.5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2558 แต่มีการวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตเพียง 25 ล้านบาร์เรลเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มโอเปค จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตอีก ขณะที่กลุ่มประเทศที่ใช้น้ำมัน รวมถึงสหรัฐอเมริกา ก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อทำให้ความต้องการใช้พลังงานลดลงด้วย" นายฟาตีห์ บิรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IEA กล่าว
ทั้งนี้ นายบิรอลกังวลว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะปล่อยให้ผลประโยชน์ทางการเมืองเข้าไปครอบงำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลางและเวเนซูเอล่า ต่างก็มีแหล่งสำรองพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะใช้วิธีทางการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัยกำหนดภาวะอุปทานในตลาดโลกมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--