ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2 ดอลลาร์และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อคืนนี้ (23 ม.ค.) เนื่องจากการคาดการณ์ที่ว่าสต็อคน้ำมันของสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจสหรัฐอาจทำให้ความต้องการน้ำมันลดน้อยลงก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดร่วงลง 2.22 ดอลลาร์ แตะระดับ 86.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.พ.ลดลง 4.95 เซนต์ ปิดที่ 2.4231 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.พ.รูดลง 2.98 เซนต์ ปิดที่ 2.2508 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 1.83 ดอลลาร์ ปิดที่ 86.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักลงทุนจับตาดูรายงานน้ำมันสำรองซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพฤหัสบดี โดยนักวิเคราะห์คาดว่าน้ำมันดิบสำรองอาจเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล น้ำมันเบนซินสำรองอาจเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล และ น้ำมันกลั่นสำรองอาจลดลง 100,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ หลังจากที่โอเปคประกาศคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2551 ไว้เท่าเดิม และกล่าวว่าความต้องการของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวและการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวขึ้นจะชดเชยความต้องการที่ลดลงจากการที่ราคาพุ่งสูงขึ้นได้ในระยะสั้น
ทั้งนี้ โอเปคคาดว่าการขยายตัวของอุปสงค์ในปี 2551 จะอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะที่ 87.07 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยเฉลี่ย ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานในเดือนก่อน
ลินดา แรฟฟิลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัทแพทส์กล่าวว่า "ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงเมื่อหลายวันก่อน เนื่องจากความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ความต้องการพลังงานลดลงด้วย ทั้งนี้ แม้ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ แต่นักลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดน้ำมันยังคงจับตาทิศทางของตลาดหุ้นต่อไป"
"การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อวันอังคาร ได้พยุงราคาน้ำมันขึ้นจาการร่วงลงอย่างหนักเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมปลายเดือนนี้ แต่นักลงทุนบางกลุ่มไม่มั่นใจว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะสามารถยับยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจได้หรือไม่" นายแรฟฟิลด์กล่าว
ซามูเอล บ้อดแมน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐกล่าวในการประชุมที่กรุงไคโรเมื่อวานนี้ว่า "แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐสามารถต้านทานการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันได้ แต่ราคาน้ำมันในระดับปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และผมเชื่อว่าหากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อใด เศรษฐกิจสหรัฐคงถูกกระทบอย่างหนักแน่นอน"
ทั้งนี้ แม้ราคาน้ำมันในปัจจุบันเคลื่อนไหวในระดับสูง แต่มีการคาดการณ์ว่า มีโอกาสน้อยมากที่กลุ่มโอเปคจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในการประชุมวันที่ 1 ก.พ.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะลดลงในช่วงปลายฤดูหนาวนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--