อุตสาหกรรมเหมืองทองคำในแอฟริกาใต้คาดว่า จะสามารถดำเนินการผลิตได้อีกครั้งภายในปลายสัปดาห์นี้ หลังจากเกิดวิกฤตพลังงานภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เหมืองทองคำหลายแห่งต้องปิดการดำเนินงานตั้งแต่วันศุกร์ และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนและแนวโน้มการเติบโตของแอฟริกาใต้
เหมืองทองคำหลายแห่ง รวมถึงเหมืองของบริษัทแองโกลโกลด์ อาห์ชานตี บริษัทฮาร์โมนี โกลด์ ไมนิ่ง บริษัทโกลด์ ฟิลด์ บริษัทแองโกล พลาตินัม และบริษัท เดอ เบียร์ส คอนโซลิเดทเต็ด ไมน์ส ประกาศปิดการดำเนินงานที่เหมืองใต้ดินตั้งแต่วันศุกร์ เพราะเกรงว่าคนงานเหมืองจะติดอยู่ใต้ดิน หลังจากเอสคอม ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าของรัฐบาลแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า บริษัทไม่สามารถรับประกันการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับเหมืองทองคำเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ วิกฤติพลังงานที่ส่งผลให้เหมืองทองคำต้องปิดการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำและพลาตินัมในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเมื่อคืนนี้ ราคาทองคำตลาด NYMEX ปิดพุ่งขึ้น 16.40 ดอลลาร์ แตะระดับ 927.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำตลาดลอนดอนทะยานขึ้นแตะระดับ 916.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากวันศุกร์ที่ระดับ 913.35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาพลาตินัมทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เหนือระดับ 1,697 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แอฟริกาใต้เป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากจีน และเป็นผู้ผลิตพลาตินัมรายใหญ่สุดของโลก โดยสามารถจัดหาพลาตินัมได้มากกว่า 75% ของความต้องการพลาตินัมทั่วโลก
ในการประชุมฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตพลังงานในแอฟริกาใต้นั้น บริษัทเอสคอมตกลงที่จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในสัดส่วน 75% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าปกติ และจะแจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบก่อนที่จะตัดกระแสไฟฟ้าประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งนานพอที่จะทำให้บริษัทเหมืองแร่สั่งการให้คนงานเหมืองเร่งดำเนินการในส่วนการซ่อมบำรุงและเข้าไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัย แต่คงไม่สามารถทำให้สามารถดำเนินการผลิตได้ต่อไป
ส่วนการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในช่วงเย็นวันนี้ โดยนางอเมเลีย โซเรส โฆษกของฮาร์โมนี โกลด์กล่าวว่า บริษัทคาดว่าเอสคอมจะสามารถเพิ่มการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ถึง 90% ของปริมาณการใช้ปกติ ซึ่งมากพอที่จะทำให้อุตสาหกรรมทองคำสามารถดำเนินการผลิตได้อีกครั้งก่อนช่วงสุดสัปดาห์นี้ และจนถึงขณะนี้บริษัทฮาร์โมนี โกลด์ สูญเสียปริมาณการผลิตทองคำไปแล้วประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน
นายไมค์ ชัสเลอร์ นักวิเคราะห์จาก T-Sec กล่าวว่า ปัญหาค่าธรรมเนียมไฟฟ้าที่สูงขึ้นในแอฟริกาใต้จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5% โดยเขาคาดว่าวิกฤตพลังงานจะทำให้เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ชะลอตัวลงแตะระดับ 2.6% ในปีนี้ สวนทางกับที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ที่ 4.5%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--