ราคาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากค่าเงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ และหลังจากราคาทองพุ่งขึ้นแข็งแกร่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 14.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปิดที่ 913.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากร่วงแตะระดับ 908 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.เป็นต้นมา
ขณะที่สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 32.80 ดอลลาร์ แตะระดับ 1,770.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,776.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดที่ 417.05 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พุ่งขึ้น 22.55 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดลดลง 12.5 เซนต์ แตะระดับ 16.870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 17.345 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 2.5 เซนต์ ปิดที่ 3.2730 ดอลลาร์ต่อปอนด์
นายจอห์น เนดเลอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทคิทโก บุลเลียน ดีลเลอร์ มอนทรีอัล กล่าวว่า ราคาทองคำได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้น หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวขึ้นปานกลาง"
ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นหลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนกิจกรรมของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำโรงงานต่างๆ อยู่ที่ระดับ 50.7 ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจาก 48.4 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 แสดงถึงการขยายตัว ขณะที่ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
"การที่ดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นทำให้นักลงทุนจำนวนมากชะลอการซื้อขายในตลาดทองคำ และหันเข้าเทรดในตลาดปริวรรตเงินตราอย่างคึกคัก หลังจากก่อนหน้านี้นักลงทุนมองว่าตลาดทองคำเป็นแหล่งการลงทุนทางเลือกใหม่ที่น่าจะปลอดภัยกว่าตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ" เนดเลอร์กล่าว
"นอกจากนี้ กองทุนบางแห่งได้เทขายทองคำเพราะต้องการทำกำไร หลังจากที่ราคาทะยานขึ้นแข็งแกร่งเมื่อหลายวันทำการที่ผ่านมา โดยในเดือนม.ค. ราคาทองพุ่งขึ้นประมาณ 10% และทะยานขึ้นเหนือแนวต้านที่ระดับ 900 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก" เขากล่าว
ส่วนราคาพลาตินัมยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง เพราะได้รับอิทธิพลจากวิกฤตการณ์พลังงานในแอฟริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาตินัมรายใหญ่ของโลกและเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ แม้เหมืองแร่หลายแห่งได้รับการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าบ้างแล้วเมื่อวันศุกร์ แต่นักลงทุนวิตกกังวลว่าอุตสาหกรรมเหมืองในภูมิภาคแห่งนี้จะรับมือกับวิกฤตการณ์พลังงานอย่างไรในอนาคต
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--