ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 1.61 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่ลดลงเกินความคาดหมายในเดือนม.ค. ซึ่งนักลงทุนมองว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังชะลอตัวลงอย่างมากและอาจทำความต้องการพลังงานลดลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดร่วงลง 1.61 ดอลลาร์ แตะระดับ 88.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดลดลง 3.68 เซนต์ แตะระดับ 2.4465 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดรูดลง 4.7 เซนต์ แตะระดับ 2.2647 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมี.ค.ปิดร่วงลง 1.65 ดอลลาร์ แตะระดับ 88.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักงานจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ไอเอสเอ็ม) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ ในเดือนม.ค.ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด และเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2546 อีกทั้งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายเอดิสัน อาร์มสตรอง นักวิเคราะห์จากทีเอฟเอส เอนเนอร์จี ฟิวเจอร์ส ในรัฐคอนเน็คติกัต กล่าวว่า "ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.เป็นข้อมูลล่าสุดที่ทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มทีแล้ว ข้อมูลดังกล่าวบดบังการคาดการณ์จากดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ที่ว่า สต็อคน้ำมันดิบของสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่แล้วมีแนวโน้มพุ่งขึ้น 2.6 ล้านบาร์เรล"
ด้านนายจิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "กองทุนรายใหญ่กำลังหาลู่ทางในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงนั้น เทขายทำกำไร โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 1 ดอลลาร์เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกและสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและวิกฤติพลังงานในแอฟริกาใต้"
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) มีมติในการประชุมให้คงกำลังการผลิตเท่าเดิมที่ระดับ 29.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรัฐมนตรีน้ำมันของลิเบียและกาตาร์กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า โอเปคต้องติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นก่อนที่จะทำการตัดสินใจใดๆในการประชุมเดือนมีนาคม
ด้านสำนักงานพลังงานสากล (ไออีเอ) ได้ออกมาวิจารณ์กลุ่มโอเปคที่ไม่ยอมปรับขึ้นเพดานการผลิตว่า เป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว ในขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่ตึงตัวมาก
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--