ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อคืนนี้ (26 ก.พ.) และปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะติดขัดด้านอุปทาน มากกว่าข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอ่อนแอลง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 1.65 ดอลลาร์ แตะระดับ 100.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 2.97 เซนต์ แตะระดับ 2.8150 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 1.78 ดอลลาร์ แตะระดับ 99.47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นบริษัที่ปรึกษาด้านพลังงาน กล่าวว่า "ราคาน้ำมันทะยานขึ้นทะลุแนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้นักเก็งกำไรแห่กันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบมากขึ้น และจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก เราตั้งข้อสังเกตุว่าทุกครั้งที่ราคาน้ำมันพุ่งผ่านระดับ 100 ดอลลาร์ จะมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้น"
ในช่วงเช้านั้น ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงหลังจากสำนักงานคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ร่วงลงแตะระดับ 75.0 จุดซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2546 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI ทั่วไปเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานพุ่งขึ้นอย่างมาก และดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์ของธอมสัน/ไอเอฟอาร์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.3%
"แต่ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นขานรับข่าวการซื้อหุ้นคืนของบริษัทไอบีเอ็ม ทำให้นักลงทุนเริ่มส่งคำสั่งซื้อเข้ามาในตลาดน้ำมัน และเมื่อราคาทะยานขึ้นเหนือแนวต้านทางจิตวิทยาระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แรงซื้อก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น" ริทเทอร์บุชกล่าว
อดัม เฮวิสัน ประธาน INO.com ซึ่งเป็นเว็บไซท์ข้อมูลด้านการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า กล่าวว่า "กลุ่มเฮดจ์ฟันด์เข้ามาเคลื่อนไหวในตลาด และมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อด้วย ทั้งนี้ก็เพราะสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีราคาถูกลง"
"ส่วนอีกปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันคือความกังวลเรื่องภาวะติดขัดด้านการลำเลียงน้ำมัน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่สงบในอิรักซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยตุรกีได้ส่งกองกำลังทหารเข้าบุกพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรักเพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกบฏชาวเคิร์ด"
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาดูรายงานน้ำมันสำรองซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าน้ำมันดิบสำรองจะเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขึ้น 7 สัปดาห์ติดต่อกัน ขณะเดียวกันคาดว่าน้ำมันเบนซินสำรองอาจทรงตัว และน้ำมันกลั่นสำรองอาจลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--