ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 1.24 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินสำรองปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันนั้น ราคาน้ำมันทะยานขึ้นเหนือระดับ 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรก เพราะได้รับปัจจัยบวกจากค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงแตระดับต่ำสุดระดับใหม่เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดร่วงลง 1.24 ดอลลาร์ แตะระดับ 99.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับ 102.08 ดอลลาร์ในระหว่างวัน
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดลดลง 4.39 เซนต์ แตะระดับ 2.7711 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดรูดลง 7.28 เซนต์ แตะระดับ 2.4777 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดร่วงลง 1.20 ดอลลาร์ แตะระดับ 98.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ป โกลบอล มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "ในช่วงเช้านั้นราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเหนือระดับ 102 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรก เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร และความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าเทรดในตลาดน้ำมันล่วงหน้ามากขึ้น"
"แต่เมื่อกระทรวงพลังงานเปิดเผยข้อมูลน้ำมันสำรองรายสัปดาห์ที่บ่งชี้ว่าน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินสำรองเพิ่มขึ้นเกินคาด ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลดลงทันที" อีแวนส์กล่าว
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 22 ก.พ.พุ่งขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 308.5 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล
ขณะที่น้ำมันเบนซินสำรองปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 232.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล แต่น้ำมันกลั่นสำรองซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออยล์ ลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 120 ล้านบาร์เรล
ส่วนยอดนำเข้าน้ำมันดิบลดลงสู่ระดับ 9.958 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ยอดนำเข้าน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.354 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ความต้องการน้ำมันเบนซินยืนอยู่ที่ระดับ 9.045 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ 9.125 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นักลงทุนจับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 มี.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าโอเปคจะตรึงปริมาณการผลิตไว้เท่าเดิม
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--