ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 61 เซนต์เมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นถ้วนหน้า
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 61 เซนต์ แตะระดับ 102.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 3.39 เซนต์ แตะระดับ 2.8408 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดดีดขึ้น 0.21 เซนต์ แตะระดับ 2.672 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 38 เซนต์ แตะระดับ 100.48 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากเอลารอน เทรดดิ้งในเมืองชิคาโก กล่าวว่า ในระหว่างวันนั้น ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 103.95 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ราคาถอยร่นลงมาปิดที่ระดับ 102.46 ดอลลาร์หลังจากบริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มขนส่งน้ำมันจากไนจีเรียได้แล้วหลังจากต้องหยุดชะงักไปก่อนหน้านี้เนื่องจากถูกกลุ่มกบฏโจมตี
"การอ่อนตัวลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาน้ำมันทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะเมื่อดอลลาร์อ่อนตัวลงจะทำให้สัญญาน้ำมันซึ่งซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีราคาถูกลงสำหรับนักลงทุนต่างชาติ" ไฟนน์กล่าว
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องเพราะได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก หลังจากมีข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังงชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐ ยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ยังไม่เลวร้ายถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย
"ผมคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ยอมรับว่าชะลอตัวลงมาก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องรับมือกับภาวะดังกล่าวด้วยการสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินจำนวนนี้กำลังจะถูกส่งถึงยังมือของชาวสหรัฐ และเงินบางส่วนจะนำไปใช้ในการจูงใจให้เกิดการลงทุนในภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆมากขึ้น"บุชกล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว
นักลงทุนส่วนใหญ่จับตาดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ซึ่งจะมีขึ้นในวันพุธที่ 5 มี.ค.นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าโอเปคจะตรึงเพดานการผลิตไว้ที่ 29.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูความคืบหน้าในเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) หลังจากเกิดแผ่นดินถล่มจนทำให้ท่อส่งน้ำมันแตกและรั่วไหล จนเป็นเหตุให้เอกวาดอร์ตัดสินใจประกาศ "ภาวะสุดวิสัย (force majeure)" และเลื่อนเวลาการส่งออกน้ำมันบางส่วน โดยภาวะสุดวิสัยเป็นส่วนหนึ่งที่ระบุในสัญญาซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอิสระจากข้อบังคับทางกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ข้อพิพาทด้านแรงงาน การก่อการร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเอกวาดอร์ยืนยันว่าจะระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ เพื่อใช้ในการส่งออกให้กับลูกค้าตามสัญญา โดยเอกวาดอร์เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ในแอฟริกาใต้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--