ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เหนือระดับ 104 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตัดสินใจตรึงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมที่กรุงเวียนนาเมื่อคืนนี้ และหลังจากรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยสต็อคน้ำมันดิบที่ลดลงเกินความคาดหมาย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดพุ่งขึ้น 5 ดอลลาร์ แตะระดับ 104.52 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 11.3 เซนต์ แตะระดับ 2.6421 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 15.13 เซนต์ แตะระดับ 2.9431 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 4.12 ดอลลาร์ แตะระดับ 101.64 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบร่วงลงทันทีที่โอเปคตัดสินใจตรึงเพดานการผลิตไว้เท่าเดิมที่ 29.67 ล้านบาร์เรล/วัน โดยนายชากิบ เคลิล ประธานโอเปค ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง การเก็งกำไรในตลาด และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อมองจากภาพรวมแล้วโอเปคเห็นว่าสหรัฐควรจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบที่มีส่วนทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้
นอกจากนี้ โอเปคกล่าวว่า การที่ความต้องการน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาส 2 สมาชิกหลายประเทศของโอเปคจึงได้เสนอให้มีการปรับลดเพดานการผลิตก่อนการประชุมในครั้งนี้ แต่ท้ายที่สุดโอเปคมีมติให้ตรึงเพดานการผลิตไว้ก่อน เพราะโอเปคกังวลว่าการลดเพดานการผลิตในระยะนี้อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดน้ำมันโลก แต่หากจำเป็นโอเปคก็จะดำเนินการตัดสินใจเรื่องเพดานการผลิตก่อนการประชุมในเดือนก.ย
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อคืนนี้ มาจากรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ระบุว่า สต็อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.พ.ร่วงลง 3.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.07 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อคน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 344,000 บาร์เรล และสต็อคน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออลย์ ลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนอัตราการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% แตะระดับ 85.9%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--