ภาวะตลาดทองคำNYMEX: วิกฤตพลังงานแอฟริกาใต้คลี่คลาย กดราคาทองปิดร่วง

ข่าวต่างประเทศ Friday March 7, 2008 07:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาทองคำและพลาตินัมปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (6 มี.ค.) เนื่องจากแรงขายทำกำไรหลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลแอฟริกาใต้จะเพิ่มการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเหมืองภายในประเทศ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายโดยไม่ให้ความสนใจกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงและราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 105 ดลอลาร์/บาร์เรล 
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดที่ 977.10 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 11.40 ดอลลาร์ ขณะที่สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดที่ 2,200.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ดิ่งลง 75.30 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดที่ 20.225 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 56.00 เซนต์ สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่ 529.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ดิ่งลง 34.40 ดอลลาร์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดลดลง 7.5 เซนต์ แตะระดับ 3.9145 ดอลลาร์/ปอนด์
เจมส์ สตีล นักวิเคราะห์จาก HSBC ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ราคาทองคำและราคาโลหะมีค่าประเภทอื่นๆร่วงลงถ้วนหน้า หลังจากมีข่าวว่าแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาตินัมรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และผลิตทองคำได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก เปิดเผยว่า รัฐบาลจะจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเหมืองภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ 95% ของเหมืองมีพลังงานไฟฟ้าใช้ตามปกติ"
"นักลงทุนให้น้ำหนักกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในแอฟริกาใต้มากกว่าที่จะขานรับปัจจัยสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยเมื่อคืนนี้ อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวลงได้ไม่นาน และมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นผ่านระดับ 1,000 ดอลลาร์/ออนซ์ได้อีก " สตีลกล่าว
ก่อนหน้าภาวะติดขัดด้านการจ่ายพลังงานไฟฟ้าในแอฟริกาใต้ ส่งผลให้บริษัทเหมืองรายใหญ่หลายแห่งดำเนินการผลิตด้วยกำลังไฟฟ้าเพียง 90% ของปริมาณการจ่ายไฟฟ้าปกติ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าผลผลิตโลหะมีค่าอาจชะลอตัวลงด้วย โดยเมื่อไม่นานมานี้บริษัทอิมพาลา พลาตินัม ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลาตินัมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกเปิดเผยว่า ผลผลิตพลาตินัมของบริษัทลดลงไปแล้ว 10,000 ออนซ์ และคาดว่าจะลดลงอีก 10,000 ออนซ์ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการดำเนินการผลิต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ