ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 33 เซนต์เมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกาตาร์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปคกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะอุปทานตึงตัว แต่เป็นเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนตีความว่าโอเปคยืนกรานที่จะไม่เพิ่มผลผลิตน้ำมัน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ( New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 33 เซนต์ ปิดที่ 76.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบดีดขึ้น 0.0066 เซนต์ ปิดที่ 2.0362 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 41 เซนต์ ปิดที่ 75.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดน้ำมันนิวยอร์กมีปฏิกริยาต่อการแสดงความคิดเห็นของนายอัลดุลเลาะห์ บิน อาห์หมัด อัล-อัตติยะห์ รมว.พลังงานของกาตาร์ที่ระบุว่า "ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในขณะนี้มาจากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศและปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงกลั่น ไม่ใช่เกิดจากภาวะอุปทานตึงตัว"
ทั้งนี้ นายฟิล ไฟน์ นักวิเคราะห์จากเอลารอน เทรดดิ้งกล่าวว่า "ตลาดมีปฏิกริยาทันทีต่อการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เนื่องจากกาตาร์เป็นสมาชิกรายสำคัญของกลุ่มโอเปค ซึ่งการที่รมว.พลังงานออกมาแสดงความเห็นเช่นนี้ทำให้นักลงทุนมองว่าโอเปคอาจจะยังไม่ปรับเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมัน"
ก่อนหน้านี้ รมว.ของกาตาร์เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของ 12 ประเทศสมาชิกโอเปคปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2 พันล้านบาร์เรล สู่ระดับ 9.22 แสนล้านบาร์เรลในช่วงปลายปี 2549 ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี และเทียบเท่ากับปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรป
"ตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้รับแรงกดดันอยู่ก่อนแล้วจากข้อมูลน้ำมันดิบสำรองที่ร่วงลงอย่างรุนแรง และการที่โอเปคส่งสัญญาณเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนจะมีปฏิกริยา" นายไฟน์กล่าว
การประชุมโอเปคครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย.เพื่อหารือนโยบายอุปทานและส่วนแบ่งตลาด โดยก่อนหน้านี้โอเปคเคยตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตลงสองครั้งในช่วงปลายปี 2549 และโอเปคเคยกล่าวไว้ว่า โอเปคไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการปรับลดนี้ตราบใดที่น้ำมันสำรองยังคงอยู่ในระดับสูง
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 27 ก.ค.ร่วงลง 6.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 344.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลง 4 สัปดาห์ที่ติดต่อกัน และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ดาวโจนส์นิวส์ไวร์คาดว่าจะขยับลงเพียง 690,000 บาร์เรล
ส่วนน้ำมันเบนซินสำรองเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล แตะระดับ 210.8 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะพุ่งขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล และน้ำมันกลั่นสำรองซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และเชื้อเพลิงดีเซล เพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 137.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--