ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX:วิตกพลังงานขาดแคลน ดันราคาน้ำมันพุ่งปิดที่ 83.69$

ข่าวต่างประเทศ Saturday October 13, 2007 08:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้น 61 เซนต์เมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) โดยในระหว่างวันนั้น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความกังวลที่ว่าปริมาณน้ำมันที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอรองรับความต้องการในช่วงไตรมาสที่ 4
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 61 เซนต์ ปิดที่ 83.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 84.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 1.85 เซนต์ ปิดที่ 2.0851 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 0.09 เซนต์ ปิดที่ 2.2464 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 40 เซนต์ ปิดที่ 80.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายสตีเฟ่น ชอร์ค นักวิเคราะห์จากบริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของสหรัฐกล่าวว่า "ตลาดถูกปกคลุมด้วยความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานตึงตัวนับตั้งแต่ทางการสหรัฐเปิดเผยว่าน้ำมันดิบสำรองลดลงเหนือความคาดหมาย"
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 5 ต.ค. ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 320.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล
ขณะที่น้ำมันเบนซินสำรองเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 193.0 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 100,000 บาร์เรล และน้ำมันกลั่นสำรองซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และเชื้อเพลิงดีเซล ลดลง 600,000 บาร์เรล แตะระดับ 135.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
เมื่อวานนี้ นายซามูเอล บ้อดแมน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันนี้ถูกขับเคลื่อนปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สมดุล ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมาจากการซื้อขายแบบเก็งกำไร
นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า นอกจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานแล้ว ราคาน้ำมันยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะข่าวล่าสุดที่ว่า รัฐบาลตุรกีจะส่งกองกำลังทหารเข้าไปประจำการในอิรักเพื่อปราบกบฏชาวเคิร์ด โดยไม่สนใจว่าจะมีผลกระทบทางการทูตตามมา ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจเกิดภาวะตัดขัดในการลำเลียงน้ำมันจากอิรัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ