ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (3 ต.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่าน้ำมันดิบสำรองปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานในสหรัฐ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 11 เซนต์ ปิดที่ 79.94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 1.31 เซนต์ ปิดที่ 1.9959 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ย.เพิ่มขึ้น 1.64 เซนต์ ปิดที่ 2.1787 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ย.ลดลง 19 เซนต์ ปิดที่ 77.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นางลินดา ราฟิลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัทแพล็ทส์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านพลังงานในเครือของเอ็มจีโกรว์-ฮิลส์ กล่าวว่า "ปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่พุ่งขึ้นเกินความคาดหมายนับเป็นปัจจัยสำคัญที่กดราคาน้ำมันร่วงลงต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางกลุ่มยังคงวิตกกังวลเนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินสำรองในรอบสัปดาห์เดียวกันนี้ ปรับตัวลดลงสวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น"
กระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 28 ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 321.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดการณ์ว่าจะร่วงลง 1.7 ล้านบาร์เรล
ขณะที่น้ำมันเบนซินสำรองปรับตัวลง 100,000 บาร์เรล แตะระดับ 191.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมน้ำมันฮีทติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 135.9 ล้านบาร์เรล ขัดแย้งกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล
ส่วนอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 87.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 0.75%
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานรายงานว่า ยอดนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐโดยเฉลี่ยลดลง 189,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.25 ล้านบาร์เรล ขณะที่ยอดนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 102,000 บาร์เรล สู่ระดับ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณความต้องการน้ำมันเบนซินลดลงสู่ระดับ 9.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่ารอบสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประณ 115,000 บาร์เรล
ทั้งนี้ นางราฟิลด์คาดว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้งกล่าวว่าที่ผ่านมานั้นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเนื่องจากแรงซื้อเก็งกำไร และเคลื่อนไหวอย่างไม่สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปสงค์-อุปทานในตลาด
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--