ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ราคาน้ำมันร่วงปิด 87.49$ หลังโอเปคคงกำลังการผลิต

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 6, 2007 06:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (5 ธ.ค.) หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตัดสินใจคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมเมื่อคืนนี้และระบุว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีอยู่อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ นักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักกับรายงานของกระทรวงพลังงานสหรัฐที่ระบุว่า น้ำมันดิบสำรองร่วงลงเกินคาด 
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนม.ค.ปิดร่วงลง 83 เซนต์ แตะระดับ 87.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.เป็นต้นมา
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 3.47 เซนต์ ปิดที่ 2.217 ดอลลาร์ต่อแกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 2.25 เซนต์ ปิดที่ 2.48963 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 1.04 ดอลลาร์ ปิดที่ 88.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ที่ประชุมโอเปคมีมติให้คงกำลังการผลิตน้ำมันไว้เท่าเดิมโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากประเทศอื่นๆที่ต้องการให้โอเปคอัดฉีดน้ำมันเข้าสู่ตลาดมากขึ้นก็ตาม โดยโอเปคจะจัดการประชุมอีกครั้งในเดือนม.ค.ปีหน้าเพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน ก่อนการประชุมวาระปรกติในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ที่ประชุมโอเปคออกแถลงการณ์ว่า "การที่โอเปคคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิมก็เพราะเชื่อว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีอยู่อย่างเพียงพอและปริมาณน้ำมันสำรองก็อยู่ในระดับที่สามารถรองรับความต้องการได้ นอกจากนี้ โอเปคเชื่อว่าราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นรุนแรงในขณะนี้เป็นผลมาจากการเก็งกำไร"
นายจอห์น ฮอลล์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากจอห์น ฮอลล์ แอสโซซิเอทส์ ประเมินว่า การที่โอเปคตัดสินใจคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิมในการประชุมครั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาน้ำมันดิบร่วงลงไปประมาณ 10% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้โอเปคมองว่าตลาดน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งคาดว่าการประชุมโอเปคในเดือนม.ค.ปีหน้าอาจทำให้ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวในช่วง 90-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า น้ำมันดิบสำรองในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 30 พ.ย.ร่วงลง 8 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 305.2 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยับลงเพียง 700,000 บาร์เรล
ขณะที่น้ำมันเบนซินสำรองพุ่งขึ้น 4.0 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 200.6 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 ล้านบาร์เรล และน้ำมันกลั่นสำรองซึ่งรวมน้ำมันฮีทติ้งออยล์และดีเซล เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 132.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะลดลง 300,000 บาร์เรล
อัตราการกลั่นน้ำมันทรงตัวที่ 89.4% ยอดนำเข้าน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในรอบสัปดาห์ที่แล้วลดลง 980,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยอดนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 334,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการน้ำมันเบนซินลดลง 90,000 บาร์เรลต่อวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ