ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) เพราะได้รับอิทธิพลจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 41 เซนต์ แตะระดับ 110.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดลดลง 4.58 เซนต์ แตะระดับ 2.6828 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 10.04 เซนต์ แตะระดับ 3.1248 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 1.27 ดอลลาร์ แตะระดับ 107.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า ความวิตกกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยได้ฉุดค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆพุ่งขึ้นด้วย
"ตลาดน้ำมันดิบมีปฏิกริยาผกผันกับทิศทางของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อดอลลาร์อ่อนตัวก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนกรูกันเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบกันมากขึ้น ผมมองว่าความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในขณะนี้ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์-อุปทาน แต่เป็นการเก็งกำไรอย่างเห็นได้ชัด" ริทเทอร์บุชกล่าว
ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน และดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรเมื่อวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่ามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเป็นวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะช่วยคลี่คลายปัญหาในตลาดสินเชื่อและตลาดการเงินได้หรือไม่
"นักลงทุนไม่ได้มองว่าอุปทานน้ำมันในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าสต็อคน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินคาด แต่นักลงทุนทุ่มซื้อเก็งกำไรเพียงเพราะกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ผมมองว่าวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดกำลังดึงดูดบรรดานักเก็งกำไรเข้ามาในตลาด" ริทเทอร์บุชกล่าว
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 7 มี.ค.พุ่งขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 311.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ดาวโจนส์ นิวส์ไวร์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 1.7 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 236 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรลและเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 18 ติดต่อกัน
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ประกาศลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2551 ลง เพราะคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวจะส่งผลให้อัตราการใช้น้ำมันลดลงไปด้วย โดย IEA คาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2551 จะอยู่ที่ระดับ 87.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 87.6 ล้านบาร์เรล/วัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--