ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงเกือบ 5 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (19 มี.ค.) หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ความต้องการพลังงานลดน้อยลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดร่วงลง 4.94 ดอลลาร์ แตะระดับ 104.48 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2544
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดร่วงลง 9.97 เซนต์ แตะระดับ 2.5603 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ลดลง 12.12 เซนต์ ปิดที่ 3.0167 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ดิ่งลง 4.84 ดอลลาร์ แตะระดับ 100.72 ดอลลาร์/บาร์เรล
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทอื่นๆปรับตัวลดลง 3.2% ส่วนความต้องการน้ำมันเบนซินลดลง 1%
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สต็อคน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 14 มี.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 200,000 บาร์เรล สู่ระดับ 311.8 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะพุ่งขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินร่วงลง 3.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 232.5 ล้าน บาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 400,000 บาร์เรล และสต็อคน้ำมันกลั่นซึ่งรวมถึงน้ำมันฮีทติ้งออยล์และเชื้อเพลิงดีเซลลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 113.5 ล้านบาร์เรลซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุด วันที่ 24 มิ.ย.2548 และลดลงมากกว่าที่คาดว่าจะขยับลงเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล
ทิม อีแวนส์ นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ตลาดน้ำมันนิวยอร์กเคลื่อนตัวผันผวนเนื่องจากปัจจัยหลายด้าน รวมถึงรายงานที่บ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐลดน้อยลงและการที่ IEA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมัน แต่นักลงทุนให้น้ำหนักกับข้อมูลความต้องการพลังงานที่ลดน้อยลง จึงใช้เหตุผลนี้ในการเทขายกำไร"
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2551 ลง เพราะคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวจะส่งผลให้อัตราการใช้น้ำมันลดลงไปด้วย โดย IEA คาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2551 จะอยู่ที่ระดับ 87.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 87.6 ล้านบาร์เรล/วัน
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะลดลง แม้ว่าอัตราการใช้น้ำมันในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน จะแข็งแกร่งขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้น้ำมันมากที่สุดในโลกนั้น อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ IEA ยังได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 2 ลงสู่ระดับ 86.4 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่คงคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในช่วงไตรมาส 3 ไว้เท่าเดิมที่ 87.2 ล้านบาร์เรล/วัน และปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในช่วงไตรมาส 4 ลงสู่ระดับ 88.6 ล้านบาร์เรล/วัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--