ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX:คลายวิตกระเบิดอิรัก ฉุดราคาน้ำมันร่วงปิด 105.62$

ข่าวต่างประเทศ Saturday March 29, 2008 08:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (28 มี.ค.) หลังจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อเหตุลอบวางระเบิดท่อส่งน้ำมันหลักในอิรัก นอกจากนี้ จากสถานการณ์เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่ต้องการเข้าลงทุนในตลาดน้ำมัน 
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดร่วงลง 1.96 ดอลลาร์ แตะระดับ 105.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนเม.ย.ปิดลดลง 4.33 เซนต์ แตะระดับ 3.105 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนเม.ย.ขยับขึ้น 0.07 เซนต์ ปิดที่ 2.717 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดร่วงลง 1.23 ดอลลาร์ แตะที่ 103.77 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดาวโจนส์ นิวสไวร์รายงานว่า เหตุลอบวางระเบิดที่ท่อขนส่งน้ำมันในอิรักเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งข่าวดังกล่าวได้จุดกระแสความกังวลว่า อิรักซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตลาดโลกอาจลดปริมาณการส่งออกน้ำมัน ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ทะยานแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรจนทำให้น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ไม่เป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุน เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องซื้อน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น
จิม ริทเทอร์บุช ประธานบริษัทริทเทอร์บุช แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ในรัฐอิลลินอยส์กล่าวว่า "ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งเทรดเดอร์ต่างมองหาโอกาสเหมาะเพื่อเทขายทำกำไร"
นอกจากนี้ ความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยที่ถ่วงราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลง หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ขยับขึ้นเพียง 0.1% ซึ่งนับเป็นระดับการขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่เดือนก.ย. 2549 ซึ่งเทรดเดอร์เกรงว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาจะส่งผลต่อปริมาณการใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มีมุมมองด้านทิศทางของราคาน้ำมันที่แตกต่างกันออกไป โดยหลายฝ่ายคาดว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งทำสถิติสูงสุดระดับใหม่ในเดือนหน้าจากเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะหั่นดอกเบี้ยอีกหลายระลอกในปีนี้ พร้อมทั้งชี้ว่า เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นเฉียดระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ก่อน
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกกลุ่มกล่าวแย้งว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลจากกลไกด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในปีนี้ ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเบนซินร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกันสวนทางกับปริมาณน้ำมันในประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อช่วงที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ