ภาวะตลาดน้ำมัน NYMEX: ดอลล์สหรัฐแข็งค่า ฉุดราคาน้ำมันดิบปิดลบ 60 เซนต์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 2, 2008 06:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (1 เม.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบ ที่ซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์ไม่น่าดึงดูดใจ นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายยังผันผวนเนื่องจากตลาดขาดทิศทางที่ชัดเจนและนักลงทุนจำนวนหนึ่งปลีกตัวออกไปดูความเคลื่อนไหวอยู่นอกตลาด
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดลดลง 60 เซนต์ แตะระดับ 100.98 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 99.5 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดรูดลง 2.64 เซนต์ แตะระดับ 2.8797 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดดีดขึ้น 1.21 เซนต์ แตะระดับ 2.6392 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดลดลง 13 เซนต์ ปิดที่ 100.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายแบรด แซมเพลส์ นักวิเคราะห์จากบริษัทซัมมิท เอนเนอร์จี เซอร์วิส ในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตักกี้ กล่าวว่า "สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบ ก่อนหน้านี้เมื่อดอลลาร์อ่อนตัวลง นักลงทุนจำนวนมากได้ทุ่มซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันและทองคำ เพราะมองว่าเป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัยในยามที่เศรษฐกิจผันผวน"
ด้านนายเจมส์ คอร์ดิเยร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทอ็อพชันเซลเลอร์ส ในรัฐฟลอริด้ากล่าวว่า "ราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีกเนื่องจากจีนและอินเดียยังคงต้องการซื้อน้ำมันจำนวนมากเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ"
นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อคน้ำมันประจำสัปดาห์ ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธ (ตามเวลาประเทศไทย) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างหนัก 4.04 ดอลลาร์ แตะระดับ 101.58 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากเฮดจ์ฟันด์เข้ามาเทขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์แทบจะทุกประเภท นับตั้งแต่โลหะมีค่าจนถึงน้ำมันดิบและพืชผลทางการเกษตร หลังจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง และเนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อเหตุการณ์ลอบวางระเบิดท่อส่งน้ำมันหลักในอิรัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ