ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเกือบ 3 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (7 เม.ย.) เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้หนุนราคาน้ำมันเบนซินทะยานขึ้นด้วย นอกจากนี้ การที่กลุ่มโอเปคยืนยันว่ายังไม่มีแผนปรับเพิ่มผลผลิต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดันราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Merchantile Exchange) ส่งมอบเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 2.86 ดอลลาร์ ปิดที่ 109.09 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนพ.ค.ดีดขึ้น 9.22 เซนต์ ปิดที่ 3.0843 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดพุ่งขึ้น 46.9 เซนต์ แตะระดับ 3.0846 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนพ.ค.ปิดพุ่งขึ้น 2.24 ดอลลาร์ แตะระดับ 107.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 29-30 เม.ย.นี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมี.ค.2551 ร่วงลง 80,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากโพลล์ของธอมสัน ไอเอฟอาร์ คาดว่าจะลดลงเพียง 50,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ นักลงทุนส่งคำสั่งซื้อเข้าหนุนสัญญาน้ำมันดิบอย่างหนาแน่น หลังจากนายอับดุลเลาะห์ ซาเล็ม เอล-บาดรี เลขาธิการโอเปค ปฏิเสธข้อเรียกร้องจากชาติตะวันตกที่ต้องการให้โอเปคเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน โดยระบุว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีมากพอ และปัญหาน้ำมันแพงเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
"ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้อยู่ในระดับเพียงพอแล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่โอเปคจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิต การที่น้ำมันมีราคาแพงเป็นประวัติการณ์เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ปัญหากระบวนการกลั่นน้ำมัน และการอ่อนตัวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ" เลขาธิการโอเปคกล่าว
นอกจากนี้ นายบาดรียังระบุว่า โอเปคไม่มีแผนการที่จะจัดการประชุมฉุกเฉิน ก่อนการประชุมตามกำหนดครั้งต่อไปในเดือนก.ย. โดยโอเปคได้ประชุมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมี.ค.
โอเปคประกาศคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของความต้องการน้ำมันทั่วโลกไว้เท่าเดิมที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับเฉลี่ยที่ 87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน
ทั้งนี้ การคาดการณ์ของโอเปคสอดคล้องกับสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2551 จะอยู่ที่ 87.54 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาดูสต็อคน้ำมันประจำสัปดาห์ ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันพุธนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินจะลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--