ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 123 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (7 พ.ค.) เนื่องจากแรงซื้อเก็งกำไร หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่าสต็อคน้ำมันดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออยล์ปรับตัวลดลง
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดพุ่งขึ้น 1.69 ดอลลาร์ แตะที่ระดับ 123.53 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 123.90 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 1.27 เซนต์ แตะระดับ 3.1182 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดเพิ่มขึ้น 9.38 เซนต์ แตะระดับ 3.4473 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดพุ่งขึ้น 2.01 ดอลลาร์ แตะระดับ 122.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมันดิบหลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐรายงานว่า สต็อคน้ำมันกลั่นซึ่งรวมน้ำมันฮีทติ้งออยล์และเชื้อเพลิงดีเซล ลดลง 100,000 บาร์เรล แตะระดับ 105.7 ล้านบาร์เรล ในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 2 พ.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 325.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 ล้านบาร์เรล และสต็อคน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล แตะระดับ 211.9 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 100,000 บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอลารอน เทรดดิ้ง ในเมืองชิคาโกกล่าวว่า "นักลงทุนทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบนับตั้งแต่ราคาทะยานขึ้นเหนือระดับ 120 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ประเมินได้คร่าวๆในเวลานี้ก็คือ นักลงทุนแทบจะไม่สนใจปัจจัยลบใดๆ แต่กลับมุ่งที่จะเก็งกำไรเพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นอีก"
นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ของนายอาร์จัน เอ็น. เมอร์ตี หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ที่ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งแตะระดับ 150-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันที่ไม่สามารถขยายตัวได้ทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โกลด์แมน แซคส์ระบุในรายงานว่า "จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบนิวยอร์กร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 16.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2544 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองโลกถูกใช้ไปเกือบหมด ในขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างไนจีเรีย อิรัก และเวเนซูเอล่า ก็ผลิตน้ำมันได้น้อยลง"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--