ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้น 4.19 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยราคาปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินที่ร่วงลงเกินคาด นอกจากนี้ การที่สกุลเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องนับเป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคาน้ำมันพุ่งขึ้นด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 4.19 ดอลลาร์ แตะระดับ 133.17 ดอลลาร์/บาร์เรล และหลังจากตลาด NYMEX ปิดทำการ ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นอีก 1.19 ดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ที่ 134.36 ดอลลาร์/บาร์เรลในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิก
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น13.34 เซนต์ ปิดที่ระดับสูงสุดที่ 3.9084 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 9.21 เซนต์ ปิดที่ระดับสูงสุดที่ 3.3965 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 4.86 ดอลลาร์ แตะระดับ 132.70 ดอลลาร์/บาร์เรล
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอลารอน เทรดดิ้ง ในเมืองชิคาโกกล่าวว่า "สต็อกน้ำมันดิบและเบนซินที่ร่วงลงเกินคาดทำให้เกิดความกังวลว่า สหรัฐอาจเผชิญวิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะในฤดูขับขี่ยานยนต์ในหน้าร้อนนี้"
"สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องและความต้องการพลังงานในจีนที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนตัวลงมากจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ยิ่งดอลลาร์อ่อนตัวลงมากเท่าใด นักลงทุนก็ยิ่งทุ่มเงินลงทุนในตลาดน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ" ไฟนน์กล่าว
นายแซม บ็อดแมน รมว.พลังงานสหรัฐกล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดสะท้อนให้เห็นถึงภาวะตึงตัวด้านอุปทาน แะอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาดโลก อีกทั้งกล่าวว่าการเก็งกำไรไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น
กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 16 พ.ค.ร่วงลง 5.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 320.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 800,000 บาร์เรล แตะระดับ 209.4 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่นซึ่งรวมน้ำมันดีเซลและน้ำมันฮีทติ้งออยล์ เพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 107.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะพุ่งขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนอัตราการการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.3% แตะระดับ 87.9% มากกว่าที่คาดว่าจะขึ้นขึ้นเพียง 0.6%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--