ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 2.36 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (22 พ.ค.) เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้นทำให้นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากราคาทะยานขึ้นทะลุระดับ 135 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 2.36 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 130.81 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 4.59 เซนต์ ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.9543 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 6.68 เซนต์ แตะระดับ 3.397 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 2.19 ดอลลาร์ ปิดที่ 130.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
นูแมน บาราแคต นักวิเคราะห์จากบริษัทแมคควอรี ฟิวเจอร์ส ยูเอสเอ ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า "ปัจจัยสำคัญที่ฉุดราคาน้ำมันร่วงลงมาจากแรงขายทำกำไรหลังจากที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นมาจากรายงานที่ว่าตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานของสหรัฐปรับตัวลดลงในรอบสัปดาห์ที่แล้ว"
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 17 พ.ค.ลดลง 9,000 ราย สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือนที่ 365,000 ราย ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคระห์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 375,000 ราย
"นอกจากนี้ ตลาดน้ำมัน NYMEX คลายความร้อนแรงลงเมื่อพลเอก เดวิด เปตราอูส แห่งกองทัพสหรัฐกล่าวว่า เขาจะแนะนำรัฐบาลสหรัฐให้ลดกองกำลังทหารในอิรักในปีนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลางจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น" บาราแคตกล่าว
ข้อมูลจากออยล์ มูฟเมนท์ระบุว่า การลำเลียงน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 360,000 บาร์เรลต่อวันในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 7 มิ.ย. หลังจากซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 300,000 บาร์เรล/วันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นักลงทุนทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่ง ส่งผลให้ราคาทะยานขึ้นไปแตะระดับ 135 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 16 พ.ค.ร่วงลง 5.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 320.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน ไฟแนนเชียลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล
ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 800,000 บาร์เรล แตะระดับ 209.4 ล้านบาร์เรล ตรงข้ามกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--