กระแสร้อนผ่าวในขณะนี้คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 135 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก่อนจะถอยลงมาปิดที่ 130.81 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ (22 พ.ค.)
ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจทำให้ภาวะเงินเฟ้อทั้งในสหรัฐและประเทศทั่วโลก พุ่งสูงขึ้น และบั่นทอนตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค อีกทั้งจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงเช่นนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะ Stagflation
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มีการแสดงทัศนะที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินว่าเป็นเพราะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนักจนทำให้เกิดความกังวลว่า สหรัฐอาจเผชิญวิกฤตการณ์พลังงานในฤดูการขับขี่ยานยนต์ในหน้าร้อนของปีนี้ อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์จากบางกลุ่มว่า การเก็งกำไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นด้วย
นายอับดุลเลาะห์ ซาเลม เอล-บาดรี เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง และการเก็งกำไร
ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ กลับมีความเห็นที่ขัดแย้งกันที่ว่า กลุ่มนักเก็งกำไรและนักลงทุนไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานและอุปสงค์ โดยอ้างว่าผลการวิจัยของสหรัฐชี้ว่า กลุ่มนักเก็งกำไรและนักลงทุนมีส่วนน้อยมากที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
แต่นักวิเคราะห์ในสหรัฐหลายคนมองว่า ปัจจัยทางจิตวิทยาที่หนุนราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล มาจากการที่นายอาร์จัน เอ็น. เมอร์ตี หัวหน้านักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งแตะระดับ 150-200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานน้ำมันที่ไม่สามารถขยายตัวได้ทันกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ลินดา แรฟฟิลด์ นักวิเคราะห์จากบริษัทแพลทส์ในกรุงนิวยอร์ก กล่าวว่า "เราเชื่อว่าการที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นจนถึงระดับ 130 ดอลลาร์เป็นเพราะแรงซื้อเก็งกำไร นักลงทุนส่วนใหญ่เข้าซื้อเพราะคาดว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ รวมถึงยูโร ซึ่งกระแสคาดการณ์เช่นนี้จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอีก นอกจากนี้ นักลงทุนกระหน่ำซื้อสัญญาน้ำมันดิบนับตั้งแต่โกลด์แมน แซคส์คาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 200 ดอลลาร์"
การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 ลงสู่ระดับ 0.3-1.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.3-2.0%
"ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นและตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ ทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เฟดคาดว่าราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงานในสหรัฐจะสูงขึ้นอีกในปีนี้" เฟดเปิดเผยในรายงานการประชุมครั้งล่าสุด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงในปีหน้า ซึ่งหนึ่งในปัจจัยลบก็คือ ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
ในช่วงปลายปีที่แล้ว นายโรดริโก ราโต้ อดีตผู้อำนวยการ IMF ได้ออกมาเตือนก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
"ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตลาดตกอยู่ในภาวะที่ตึงตัวอย่างมาก ในการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกนั้น IMF พิจารณาบนพื้นฐานของราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวที่ระดับ 77 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่สถานการณ์ตลาดน้ำมันในขณะนี้ทำให้เราคาดว่า ราคามีแต่จะพุ่งขึ้นอีก ไม่ใช่ปรับตัวลดลง" นายราโตกล่าว
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--