ผู้นำจากประเทศทั่วโลกกำลังมองหาแนวทางที่จะผ่อนคลายภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกด้วยการสั่งนำเข้าข้าวจากญี่ปุ่นซึ่งมีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมาก โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐเริ่มพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น เพื่อเปิดทางให้ญี่ปุ่นระบายข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐออกสู่ตลาดโลก
ขณะที่ญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะส่งข้าว 200,000 ตันขายให้กับฟิลิปปินส์ ในขณะที่ญี่ปุ่นยังมีข้าวคงค้างอยู่ในสต็อกของรัฐบาลอีก 1.5 ล้านตัน
ศาสตราจารย์โนบุชิโร่ ซูซูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า "ญี่ปุ่นมีข้าวคงค้างอยู่ในสต็อกจำนวนมาก ทำให้เราสามารถส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆได้ทั่วโลก เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนในกรณีเร่งด่วน"
ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของญี่ปุ่น ขาดแคลนหลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เนื่องจากความมุ่งมั่นใช้วิทยาการทางการเกษตรแผนใหม่จึงทำให้การเพาะปลูกข้าวทั่วโลกคืบหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว และญี่ปุ่นเองก็ได้ประกาศใช้มาตรการเพื่อปกป้องเกษตรกรภายในประเทศ แต่ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ญี่ปุ่นเริ่มถูกกดดันจากประเทศคู่ค้า จึงได้เปิดตลาดเพื่อนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ และจนถึงขณะนี้ญี่ปุ่นยอมนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละ 770,000 ตัน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระบายข้าวจำนวนมากที่ค้างอยู่ในสต็อค ญี่ปุ่นจึงตัดสินใจที่จะส่งออกข้าวไปขายให้กับประเทศอื่นๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายโตชิโรอุ ชิราสุ รมช.เกษตรกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นส่งข้าวให้กับฟิลิปปินส์โดยเร็วที่สุด และพร้อมที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องจากประเทศอื่นๆด้วย
ธนาคารโลกระบุว่า ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งขึ้นเกือบ 3 เท่าในระยะเวลา 3 ปีนี้ ขณะที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากกฏข้อบังคับด้านการค้าที่เข้มงวดขึ้น พื้นที่เพาะปลูกที่น้อยลง ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และการผลิตไบโอดีเซลที่สูงขึ้นขึ้นทำให้ราคาข้าวแพงขึ้นเป็นลำดับ
นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารยังทำให้เกิดการประท้วงและจลาจลในหลายประเทศ อีกทั้งทำให้มีการจำกัดการส่งออก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน