ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้น 5.49 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (5 มิ.ย.) เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอย่างหนักหลังจากนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่า อีซีบีอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 5.49 ดอลลาร์ ปิดที่ 127.79 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นในสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในระหว่างวันนั้น ราคาทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันที่ 128.26 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 13.94 เซนต์ ปิดที่ 3.3345 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ค.ดีดขึ้น 13.5 เซนต์ ปิดที่ 3.6808 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 5.44 ดอลลาร์ ปิดที่ 127.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
ประธานอีซีบีกล่าวภายหลังจากประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ 4% เมื่อวานนี้ว่า "อัตราเงินเฟ้อในยุโรปพุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และคณะกรรมการอีซีบีบางคนเล็งเห็นว่าการใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดในการสกัดกั้นเงินเฟ้อ"
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอลารอน เทรดดิ้ง ในเมืองชิคาโกกล่าวว่า "การแสดงความคิดเห็นของประธานอีซีบีส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ร่วงลงทันทีเมื่อเทียบกับยูโร และทำให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อสัญญาน้ำมันอย่างคับคั่ง เพราะดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงทำให้สัญญาน้ำมันที่ซื้อขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์ มีราคาถูกลงด้วย"
"เมื่ออัตราดอกเบี้ยในยุโรปสูงขึ้นก็จะสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินดอลลาร์ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงตลาดน้ำมัน เป็นแหล่งการลงทุนที่ปลอดความเสี่ยงจากปัจจัยเงินเฟ้อ" ไฟนน์กล่าว
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การที่ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากปีที่แล้วถึง 2 เท่า
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 24-25 มิ.ย.นี้ เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐสูงขึ้น
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส แสดงความเห็นว่า การให้เงินอุดหนุนภาคพลังงานในเอเชียจะค่อยๆลดลง หลังจากที่อินเดียและมาเลเซียประกาศว่าจะยกเลิกการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆในเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย และไต้หวัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--