เฟเรดัน เฟชารากี ประธานบริษัท Facts Global Energy ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรลภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากหลากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นและการเก็งกำไรของเทรดเดอร์ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
เฟชารากีกล่าวในการประชุม Asia Oil and Gas Conference ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า "ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 180-200 ดอลลาร์/บาร์เรลภายใน 4 ปีข้างหน้า ส่วนในระยะสั้นหรือในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ผมคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะ 150 ดอลลาร์/บาร์เรลอย่างแน่นอน"
"ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อความต้องการพลังงาน และดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ๆให้เข้ามาในตลาด ขณะนี้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าความต้องการพลังงานในสหรัฐและประเทศใหญ่ๆในเอเชียชะลอตัวลงแล้ว โดยเฉพาะจีน อินเดีย และตะวันออกกลางที่พยายามยับยั้งการเติบโตของความต้องการพลังงานให้เหลือเพียง 1 ล้านบาร์เรล/วันเท่านั้น" เฟชารากีกล่าว
ทั้งนี้ เฟชารากีเชื่อว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากเม็ดเงินเก็งกำไร
สัญญาน้ำมัน NYMEX ซึ่งมีการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกในตลาดเอเชียพุ่งขึ้น 63 เซนต์ แตะที่ 134.98 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันนี้ แม้มีข่าวว่าซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เรียกร้องให้มีการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและกลุ่มประเทศผู้ซื้อน้ำมัน เพื่อหาทางคลี่คลายราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน
จอห์น แซลลี กรรมการผู้จัดการบริษัท World-GTL Inc ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานสะอาด แสดงความเห็นว่า "สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาจากจำนวนบริษัทที่สำรวจน้ำมันและผลิตน้ำมันลดน้อยลง และปริมาณการผลิตน้ำมันที่น้อยลง"
"หลายคนโทษว่าการเก็งกำไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งก็ง่ายที่จะกล่าวโทษเช่นนี้ แต่ผมคิดว่าราคาน้ำมันแพงขึ้นเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์อุปทาน เพราะโลกของเรามีคนใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น แต่คนที่เข้ามาสำรวจแหล่งสำรองน้ำมันและผลิตน้ำมันกลับมีน้อยลง สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมคาดว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรลในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า" แซลลีกล่าว
ยูตากะ คูนิโกะ ซีอีโอบริษัท Tokyo Gas เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เกิดการเก็งกำไร และไม่สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--