ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 60 เซนต์เมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายทำกำไรหลังจากมีข่าวว่าซาอุดิอาระเบียเตรียมเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือนหน้า ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงติดต่อกัน 3 วันทำการ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 60 เซนต์ ปิดที่ 134.01 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 132-135.23 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ค.ขยับลง 0.52 เซนต์ ปิดที่ 3.8222 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 2.00 เซนต์ ปิดที่ 3.4179 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.ร่วงลง 99 เซนต์ ปิดที่ 133.72 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 132-135.28 ดอลลาร์
นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักกับการเปิดเผยของนายบัน กี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ระบุว่า ซาอุดิอาระเบียวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันอีก 200,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนหน้า แตะระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ค. หลังจากที่ได้เพิ่มปริมาณการผลิตไปแล้ว 300,000 บาร์เรล/วันไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
บัน กี-มูลกล่าวกับหนังสือพิมพ์ซาอุดิเพรส ว่า ซาอุดิอาระเบียมองว่าการที่ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นไปยืนเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อีกทั้งกังวลว่าหากราคาน้ำมันยังเคลื่อนไหวในระดับสูงต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันทั่วโลก และในระยะยาวจะกระทบถึงซาอุดิอาระเบีย
นักลงทุนจับตาดูสต็อกน้ำมันในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 13 มิ.ย. ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพุธ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจลดลง 1.5 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นอาจเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล สต็อกน้ำมันเบนซินอาจเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล และอัตราการกลั่นน้ำมันอาจเพิ่มขึ้น 0.5%
วิคเตอร์ ชูม นักวิเคราะห์จากบริษัทเพอร์วิน แอนด์ เกิร์ส กล่าวว่า "ตลาดจับตาดูท่าทีของซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกและเป็นสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มโอเปค รวมทั้งการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันและกลุ่มผู้ซื้อน้ำมันซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 มิ.ย.ที่เมืองเจดดะห์ การประชุมครั้งนี้จะเป็นปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มราคาน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง"
"ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในสหรัฐ ซึ่งดูได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป เดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.6% และล่าสุดคือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 1.4% ซึ่งเป็นสถิติที่ขยายตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย." ชูมกล่าว
ฟิล ไฟนน์ นักวิเคราะห์จากเอลารอน เทรดดิ้ง กล่าวว่า นักลงทุนยังคงจับตาดูความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการกำกับดูแลการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าของสหรัฐ (CFTC) ที่ยื่นมือตรวจสอบการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน และการที่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายของสหรัฐตื่นตัวเรื่องการรับมือกับการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--