มาร์ติน แอบบอต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตลาดโลหะลอนดอน (LME) แสดงความเห็นว่า การที่รัฐบาลในหลายประเทศจำกัดการซื้อขายและควบคุมการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ถือเป็นการดำเนินงานที่ "โง่เขลา" เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เคลื่อนไหวไปตามปัจจัยพื้นฐานอุปสงค์และอุปทาน
"ที่ผ่านมานั้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประเทศตลาดเกิดใหม่ทำให้โครงสร้างในตลาดสินค้าโภภัณฑ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาพุ่งสูงขึ้นด้วย แต่การที่รัฐบาลใช้กฎข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นเพื่อจำกัดการเก็งกำไรไม่ได้ช่วยให้ราคาปรับตัวลง และกลับจะทำลายกลไกตลาดมากกว่า" แอบบอตกล่าว
"ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีขอบเขตที่กว้างมาก และไม่ใช่สถานที่ที่จะถูกตีความว่าเป็นแหล่งพักเงินของนักเก็งกำไร รัฐบาลของประเทศใดก็ตามที่ออกกฏข้อบังคับควบคุมการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ถือเป็นการตัดสินใจที่โง่มาก เพราะเท่ากับสร้างกำแพงกีดกันนักลงทุนที่ต้องการเข้าเทรดในตลาด" แอบบอตให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่นิวยอร์ก
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดิบ ข้าวโพด และทองแดง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงวุฒิสมาชิกโจเซฟ ไลเบอร์แมนของสหรัฐ เรียกร้องให้สภาคองเกรสจำกัดการเก็งกำไรในตลาด ขณะที่ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดัง ก็ออกมาระบุเมื่อไม่นานมานี้ว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นผลพวงจากการเก็งกำไร
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของนักเก็งกำไรในตลาด โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ตลาด LME ประกาศเปิดตัวสัญญาซื้อขายเหล็กในตลาดล่วงหน้าเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ผลิตเหล็กออกมาคัดค้านอย่างรุนแรง รวมถึงจอห์น เซอร์มา ซีอีโอบริษัท ยู.เอส.สตีล คอร์ป และ ลักษมี มิททัล ซีอีโอบริษัท อาร์เซลอร์มิททัล
"เหล็กไม่ใช่เครื่องมือลงทุนเพื่อการเก็งกำไรและไม่ควรนำมาซื้อขายในตลาดล่วงหน้า จากประสบการณ์ผมมั่นใจว่า สัญญาซื้อขายเหล็กในตลาดล่วงหน้าไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน" ซีอีโออาร์เซลอร์มิททัล ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลกกล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--