ราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กไต่ระดับขึ้นทำสถิติใหม่ที่เกือบ 143 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อคืนนี้ (27 มิ.ย.) เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร เป็นการตอกย้ำว่าเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบทะยานสูงขึ้นมาก จะยังคงร่วงลงต่อเนื่องและจะยิ่งดึงดูดให้นักลงทุนเข้าซื้อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค.พุ่งขึ้นสูงถึง 142.99 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ก่อนที่จะถูกแรงขายทำกำไรในช่วงท้ายกดลงมาปิดที่ 140.21 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งก็ถือเป็นระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 57 เซนต์
ขณะที่สัญญาน้ำมันเบนซินส่งมอบเดือนก.ค.ร่วงลง 1.01 เซนต์ ปิดที่ 3.5012 ดอลลาร์/แกลลอน และสัญญาน้ำมันฮีทติ้งออยล์ส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 2.32 เซนต์ ปิดที่ 3.9066 ดอลลาร์/แกลลอน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาด ICE กรุงลอนดอน ส่งมอบเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 48 เซนต์ ปิดที่ 140.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
เจมส์ คอร์ดิเยร์ ประธานบริษัทลิเบอร์ตี้ เทรดดิ้ง กรุ๊ป และ OptionSellers.com กล่าวว่า ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ก่อนที่จะร่วงลงเมื่อเทียบยูโรในช่วงบ่าย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้นักลงทุนเข้าซื้อสัญญาน้ำมัน
ขณะนี้ตลาดเชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคตอันใกล้นี้ และเทรดเดอร์คาดว่าดอลลาร์จะยังคงร่วงลงต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเก็งกำไร
"น้ำมันกลับมาเป็นที่นิยม โดยเฉพาะเมื่อผู้คนพากันหนีออกจากตลาดหุ้น" จิม ริตเตอร์บุส์ช ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Ritterbusch and Associates กล่าว
นอกจากปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์แล้ว การร่วงลงของตลาดหุ้นในระยะนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนหันไปหาการลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงเกือบ 460 จุดในระยะเวลาเพียงสองวัน และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2549
โอลิเวอร์ จาคอบ นักวิเคราะห์จาก Petromatrix Gmbh ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า "เมื่อเงินไม่มีที่ไป มันก็ไปหยุดอยู่ที่โภคภัณฑ์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนเพียงไม่กี่อย่างที่ทำให้เงินของคุณงอกเงย"
โดยนักวิเคราะห์หลายรายยังได้คาดการณ์ด้วยว่า อาจจะได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งแตะถึง 145 ดอลลาร์ หรือแม้แต่ 150 ดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง รวมถึงความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างจีนและอินเดีย ขณะที่อุปทานในตะวันออกกลางและไนจีเรียประสบภาวะชะงักงัน ตลอดจนการผลิตที่ลดลงในเม็กซิโก
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปนัยดา ปัทมโกวิท โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--